ทนายความ เส้นทางสู่วิชาชีพทนายความ
ทนายความ คือใคร
ทนายความ คือ ผู้ที่สภาทนายความได้รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความให้สามารถว่าต่างแก้ต่างคู่ความในเรื่องอรรถคดีต่าง ๆ
อาชีพทนายความ ถือเป็นความฝันของใครหลายคนที่เรียนจบนิติศาสตร์เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นอาชีพที่มีความสำคัญในกระบวนการยุติธรรม ช่วยเสาะแสวงหาความจริงให้ผู้คนได้รับความยุติธรรม เป็นอาชีพที่มีเกียรติน่ายกย่อง การเป็นทนายความนั้น ไม่ใช่ว่าใครอยากจะเป็นก็เป็นได้เลย การเป็นทนายความต้องผ่านด่านการทดสอบความรู้การฝึกอบรมทั้งทางด้านทฤษฎีและทางด้านปฏิบัติหลายขั้นตอน เมื่อผ่านการทดสอบทั้งหมดแล้วจึงจะสามารถเป็นทนายความได้
บุคคลที่จะเป็นทนายความได้ต้องมีคุณสมบัติและผ่านขั้นตอบการทดสอบและฝึกอบรมต่าง ๆ อย่างน้อย 6 ประการ ดังต่อไปนี้
1.จบปริญญาตรี หรือ อนุปริญญาตรี นิติศาสตร์
2.ต้องผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ
3.ผ่านการสอบปากเปล่า
4.ผ่านอบรมจริยธรรม
5.ผ่านการสมัครเป็นสามัญหรือวิสามัญสมาชิกกับเนติบัณฑิตยสภา
6.ผ่านการยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ
ขั้นตอนที่ 1 จบปริญญาตรี หรือ อนุปริญญาตรี นิติศาสตร์
บุคคลที่จะมีสิทธิสมัครสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ หรือที่เรียกกันว่า “ตั๋วทนาย”
ทั้งในกรณีอบรมวิชาว่าความและกรณีผู้ฝึกงาน 1 ปี จะต้องจบปริญญาตรีนิติศาสตร์ หรือ อนุปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่สภาทนายความรับรองเท่านั้น ผู้จะเป็นทนายความได้จึงต้องเป็นผู้มีความรู้ทางด้านวิชาการทางกฎหมายมากเพียงพอจนเรียนจบปริญญาตรีหรืออนุปริญญาตรีจากสถาบันการศึกษาที่สภาทนายความรับรอง
ขั้นตอนที่ 2 ต้องผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ
เมื่อเรียนจบนิติศาสตร์หรือได้รับอนุปริญญา บุคคลที่มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นทนายความจะต้องผ่านการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ สภาทนายความ และผ่านการฝึกอบรม
โดยการฝึกอบรมและการสอบนั้น สภาทนายความได้จัดการทดสอบออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
การสอบใบอนุญาตว่าความประเภทผู้ผ่านการอบรมวิชาว่าความ (หรือตั๋วรุ่น)
การสอบใบอนุญาตว่าความประเภทผู้ผ่านการฝึกงานในสำนักงานไม่น้อยกว่า 1 ปี
(หรือตั๋วปี)
ซึ่งในที่นี้ขอเรียกสั้น ๆ ว่า “ตั๋วรุ่น” กับ “ตั๋วปี” นะครับ
กรณีตั๋วรุ่น
สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความ จะทำการเปิดรับสมัครอบรมวิชาว่าความปีละ 2 รุ่น ซึ่งจะเปิดรับสมัครช่วงกลางปีกับช่วงปลายปี โดยการสอบข้อเขียนจะแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคทฤษฎี และ ภาคปฏิบัติ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ภาคทฤษฎี การสอบออกเป็น 2 ส่วน คือ ข้อสอบปรนัย จำนวน 20 ข้อ 20 คะแนน และ ข้อสอบอัตนัย จำนวน 4-6 ข้อ 80 คะแนน รวมเป็น 100 คะแนนเต็ม ผู้ที่สอบได้ตั้งแต่ 50 คะแนน ขึ้นไปถือว่าสอบผ่านข้อเขียนภาคทฤษฎี
ผู้สอบผ่านภาคทฤษฎีต้องไปฝึกงานภาคปฏิบัติ 6 เดือน ในสำนักงานทนายความต่าง ๆ ที่มีทนายความผู้มีใบอนุญาตให้เป็นทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี เซ็นรับรองว่าได้ผ่านการฝึกภาคปฏิบัติจริงและมีระบบเซ็นประเมินการฝึกภาคปฏิบัติด้วย เมื่อได้รับการเซ็นรับรองแล้วถึงจะมีสิทธิสอบข้อเขียนภาคปฏิบัติต่อไป
ภาคปฏิบัติ การสอบออกเป็น 2 ส่วน คือ ข้อสอบปรนัย และ ข้อสอบอัตนัย โดยให้เขียนในแบบพิมพ์ศาล รวมเป็น 100 คะแนนเต็ม ข้อสอบก็จะเป็นการให้ตัวอย่างข้อเท็จจริง
มา 1 เรื่อง แล้วให้ผู้เข้าสอบทำการเขียนคำฟ้อง คำร้อง คำขอ คำแถลง หรือหนังสือบอกกล่าวต่าง ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้เข้าสอบก็จะต้องเขียนคำฟ้อง คำร้อง คำขอ คำแถลง ต่าง ๆ เสมือนที่จะยื่นต่อศาลจริง ๆ จากนั้นข้อสอบก็จะถูกส่งไปให้คณะกรรมการผู้มีความรู้ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญ จากสถาบันฝึกอบรมวิชาว่าความเป็นผู้ทำการตรวจข้อสอบ
ผู้ที่สอบได้ตั้งแต่ 50 คะแนน ขึ้นไปจึงจะถือว่าสอบผ่าน และถึงจะมีสิทธิไปลงทะเบียนเพื่อสอบปากเปล่าอีกชั้นหนึ่ง
กรณีตั๋วปี
การสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ กรณีผู้ฝึกงานในสำนักงานทนายความไม่น้อย
กว่า 1 ปี มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
(1) บุคคลที่จะสมัครเป็นทนายความจะต้องไปติดต่อขอรับแบบแจ้งการฝึกงานในสำนักงาน 1 ปี จากสภาทนายความ แล้วนำไปขอฝึกงานกับทนายความผู้ที่มีใบอนุญาตมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี ลงชื่อรับรองการฝึกงานให้ด้วย
(2) เมื่อฝึกงานครบกำหนด 1 ปี ถึงจะมีสิทธิลงทะเบียนสอบข้อเขียนได้ สำหรับการสอบข้อเขียนเนื้อหาจะแบ่งการให้คะแนนเป็น 2 ส่วน คือ ข้อสอบปรนัย และ ข้อสอบอัตนัย โดยให้เขียนในแบบพิมพ์ศาลเสมือนจริง รวม 100 คะแนน ลักษณะข้อสอบ
และการตรวจข้อสอบก็จะคล้ายกับการสอบภาคปฏิบัติ สำหรับผู้ที่สอบได้คะแนน
ตั้งแต่ 50 คะแนน ขึ้นไปจึงถือว่าสอบผ่าน และจะต้องไปสอบปากเปล่าอีกชั้นหนึ่ง
ขั้นตอนที่ 3 ต้องผ่านการสอบปากเปล่า
เมื่อผ่านการสอบภาคปฏิบัติ หรือ การฝึกงาน 1 ปีแล้ว บุคคลผู้ที่จะสามารถเป็นทนายความได้ จะต้องผ่านการสอบปากเปล่าด้วย โดยการสอบปากเปล่าเป็นการสอบแบบสัมภาษณ์ต่อหน้ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2-3 คน เนื้อหาที่ใช้ในการสอบมี 3 ส่วน คือ 1.ประสบการณ์ฝึกงาน 2. หลักกฎหมาย และ 3. การซักถามพยาน และทางคณะกรรมการก็จะประเมินว่าบุคคลนั้นควรผ่านการสอบปากเปล่าหรือไม่
ขั้นตอนที่ 4 ต้องผ่านการอบรมจริยธรรม
เมื่อผ่านการสอบปากเปล่าแล้ว สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ จะกำหนดวันอบรมจริยธรรม เนื้อหาการอบรมก็จะบรรยายถึงหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ จริยธรรมของทนายความ รวมถึงมรรยาททนายความด้วย ฯลฯ โดยบุคคลผู้ที่จะเป็นทนายความได้จะต้องผ่านการอบรมในครั้งนี้ด้วย
ขั้นตอนที่ 5 ต้องผ่านการสมัครเป็นสามัญหรือวิสามัญสมาชิกกับเนติบัณฑิตยสภา
เมื่อได้รับใบประกาศนียบัตรแล้ว ก็จะต้องนำใบประกาศนียบัตรดังกล่าวไปยื่นเพื่อสมัคร สามัญสมาชิก (กรณีผู้สอบผ่านเนติฯ) หรือ วิสามัญสมาชิก (กรณีผู้ที่สอบไม่ผ่านเนติฯ) กับ เนติบัณฑิตยสภา โดยเนติบัณฑิตยสภาก็จะทำการตรวจสอบว่าบุคคลนั้น ๆ มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้เป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาหรือไม่ อย่างไร
ขั้นตอนที่ 6 ยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ
เมื่อได้รับอนุมัติให้เป็นสามัญสมาชิกหรือวิสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาเรียบร้อยแล้ว บุคคลผู้จะเป็นทนายความได้ ก็จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนใบอนุญาตให้เป็นทนายความที่ ฝ่ายทะเบียนของสภาทนายความ หลังจากนั้นสภาทนายความก็จะทำการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ว่าบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะจดทะเบียนเป็นทนายความได้หรือไม่ โดยตรวจสอบจากข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน อาทิเช่น
- บุคคลนั้นจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาต
- บุคคลนั้นต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาที่ สภาทนายความรับรอง
- บุคคลนั้นไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียบกพร่องในศีลธรรมอันดี และไม่เป็นผู้ได้กระทำการใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต
- บุคคลนั้นต้องไม่อยู่ในระหว่างต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
- บุคคลนั้นต้องไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะ นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
- บุคคลนั้นต้องไม่เป็นบุคคลผู้ต้องพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย
- บุคคลนั้นต้องไม่เป็นโรคติดต่อซึ่งเป็นที่รังเกียจของสังคม
- บุคคลนั้นต้องไม่เป็นผู้มีกายพิการ หรือจิตบกพร่องอันเป็นเหตุให้เป็นผู้หย่อนสมรรถภาพในการประกอบอาชีพ
- บุคคลนั้นต้องไม่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีเงินเดือน และตำแหน่งประจำเว้นแต่ ข้าราชการการเมือง
- บุคคลนั้นต้องไม่เป็นบุคคลที่ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ เว้นแต่เวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันถูกลบชื่อ
เมื่อสภาทนายความได้ตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว หากเห็นว่าบุคคลนั้น ๆ มีคุณสมบัติครบถ้วนไม่มีลักษณะต้องห้าม สภาทนายความก็จะออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความให้แก่บุคคลนั้น ๆ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่สามารถเป็นทนายความได้
จะต้องมีความรู้ทางกฎหมายทั้งด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติ ผ่านการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบ ตรวจสอบคุณสมบัติจากเนติบัณฑิตยสภาและสภาทนายความอย่างละเอียดถี่ถ้วนมาแล้วในหลายขั้นตอน อันเป็นเครื่องการันตรีได้ว่า บุคคลที่จะได้รับใบอนุญาตให้เป็น “ทนายความ” จะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในทางกฎหมายจริง ๆ และต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี และกระทำการใดซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่สามารถเป็นทนายความได้