ย้ายต้นไม้อย่างไรให้ถูกวิธี
ขั้นตอนที่ 1
หากป็นกลุ่มพืชใบเลี้ยงคู่ ซึ่งเป็นพวกที่มีระบบรากแก้วและมีกิ่งก้านแตกแขนง เช่น มะม่วง โมก แก้ว ชบา เทียนทอง ก่อนย้ายปลูกให้ตัดแต่งกิ่งบางส่วนออกประมาณครึ่งหนึ่งเพื่อลดการคายน้ำ โดยเลือกตัดกิ่งย่อย กิ่งที่เป็นมุมแหลม กิ่งที่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย เหลือกิ่งหลักไว้เท่าที่จำเป็น และควบคุมให้ได้ขนาดทรงพุ่มใหม่ตามต้องการ หลังจากตัดแต่งกิ่งควรใช้ปูนแดงป้ายที่รอยตัด (โดยเฉพาะกิ่งขนาดใหญ่) เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของโรคและแมลง แต่หากเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวซึ่งมีใบเรียวยาว ทรงพุ่มแตกกอ และมีแต่รากแขนง เช่น พลับพลึง รางทอง ว่านสี่ทิศ เฮลิโคเนีย ให้ตัดใบออกครึ่งใบ และควรระวังไม่ตัดโดนยอดอ่อนที่แทงขึ้นมาใหม่
ขั้นตอนที่ 2
ขุดล้อมต้นโดยตัดเฉพาะรากแขนงบางส่วนออกและเหลือรากแก้วไว้ ทิ้งระยะเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ต้นไม้มีการปรับตัว จึงย้ายออกไปปลูกยังที่ใหม่ โดยทั่วไปขนาดความกว้างของตุ้มขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่ม โดยกะระยะให้ห่างจากโคนต้นออกมาประมาณ 25-30 เซนติเมตร ส่วนขนาดความลึกของตุ้มดินประมาณ 40 เซนติเมตร ในกรณีที่พบว่าต้นโทรมเมื่อตัดรากแขนงออกไป ควรรออีกสักประมาณ 2 เดือน เพื่อดูอาการ เมื่อเริ่มแตกใบใหม่จึงย้ายต้นไม้ออกจากพื้นที่ได้ (ไม้พุ่มและไม้คลุมดินที่มีขนาดเล็กสามารถย้ายปลูกได้ทันทีโดยไม่ต้องล้อมทิ้งไว้) ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวซึ่งไม่มีรากแก้ว การขุดล้อมสามารถตัดรากและย้ายไปพักไว้ หรือปลูกลงที่ใหม่ตามต้องการได้ทันที ขนาดของตุ้มดินตามความเหมาะสมของทรงพุ่มต้น
ขั้นตอนที่ 3
หลังจากตัดรากแขนงทิ้งไว้ 1 เดือน ให้ตัดรากแก้วออก จากนั้นนำตาข่ายพลาสติกกระสอบ หรือซาแลนรองตุ้มดิน ใส่ขุยมะพร้าว จากนั้นผูกตุ้มดินขึ้นมา นำต้นไม้วางพักในบริเวณที่ร่มรำไร คอยรดน้ำตุ้มดินให้ชุ่มเสมอ รอให้มีการแตกรากและใบใหม่
ขั้นตอนที่ 4
แกะตุ้มดินและย้ายปลูกลงดินตามตำแหน่งที่ต้องการ โดยรองก้นหลุมและใส่ดินผสมใหม่ลงไปในหลุมปลูก เพื่อให้ดินโดยรอบตุ้มดินร่วนซุย แตกรากใหม่ได้ง่าย ข้อควรระวังคือขนาดหลุมปลูกควรใหญ่กว่าตุ้มดิน สำหรับใส่ดินผสมที่มีลักษณะโปร่ง ร่วนซุย รองก้นหลุมและรอบตุ้มดินเพื่อให้รากต้นไม้แตกใหม่ได้ง่าย
เกร็ดเพิ่มเติม
- ก่อนอื่นต้องพิจารณาว่าต้นไม้ที่ต้องการย้ายปลูกเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมแบบไหน เช่น ไม้ในร่ม หรือไม้กลางแจ้ง เพื่อจะได้นำไปไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม
- ไม่ควรย้ายต้นไม้ในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากต้นไม้ส่วนใหญ่จะแตกตาดอกมากกว่าตาใบ และมักมีการพักตัว อาจทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโตได้ ทางที่ดีควรเลือกปฏิบัติในช่วงเข้าหน้าฝน เพื่อให้พืชได้รับน้ำเต็มที่
- การล้อมต้นไม้เพื่อการย้ายปลูก หรือที่นิยมเรียกว่า บอล (Ball) นอกจากจะล้อมโดยให้มีตุ้มดินติดอยู่กับรากเพื่อป้องกันรากขาดแล้ว พืชบางชนิดยังนิยมขุดล้อมแบบรากเปลือย คือไม่มีดินติดมากับราก เช่น ลั่นทม เนื่องจากการเกิดรากใหม่จะดีกว่า
- หากย้ายต้นไม้โดยไม่ตัดใบออกก่อนจะส่งผลให้ใบเหี่ยวจนกิ่งแห้ง และลามถึงต้นได้ เนื่องจากเมื่อรากต้นไม้ถูกตัด ทำให้รากดูดน้ำจากดินได้น้อยลง หากใบมีอยู่เท่าเดิมก็จะสังเคราะห์แสงและคายน้ำไปเรื่อย ๆ จนเกิดอาการดังกล่าว
เทคนิคในการขุดล้อม ย้ายปลูกต้นไม้
1.การตีตุ้มหรือตุ้มดิน คือ การขุดดินและตัดรากโดยรอบต้นไม้ ในระยะห่างจากโคนต้นตามขนาดเหมาะสมแก่ความจำเป็นในการเจริญเติบโต และความสามรถในการอุ้มดินของระบบราก ตุ้มดินโดยทั่วๆไปมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับเส้นรอบวงของโคนต้นหรือโตกว่าเล็กน้อย รูปร่างของตุ้มดินอาจเป็นทรงกลมแบบผลส้มโอ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือรูปไข่ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมหรือข้อจำกัดในการจัดการ ทั้งสถานที่ขุด การขนส่ง ชนิดของต้นไม้และสถานที่ปลูก ตลอดจนความสามารถในการอุ้มดินของรากไม้ชนิดนั้นๆ ตุ้มดินซึ่งมีขนาดใหญ่จะมีผลดีต่อการฟื้นตัวของต้นไม้ และการขุดล้อมจะเป็นผลสำเร็จมากกว่า แต่จะมีน้ำหนักมากและเสี่ยงต่อการที่จะแตกได้ง่าย ถ้าใช้กับต้นไม้ที่มีรากฝอยน้อย ตุ้มเล็กจะมีน้ำหนักเบากว่า และสะดวกในการขนส่ง แต่จะมีผลเสียต่อการฟื้นตัว ทำให้การเจริญเติบโตช้า มีความเสี่ยงต่อการตายสูงกว่าตุ้มใหญ่
2.การตัดแต่งทรงพุ่ม ในการขุดล้อม ย้ายปลูก จะต้องลดการคายน้ำของต้นไม้ให้เหลือน้อยที่สุด เพราะขณะที่ขุดและตัดราก ต้นไม้มีความสามารถในการหาน้ำและอาหารน้อย การตัดกิ่งให้สั้นเพื่อลดจำนวนใบและตัดบางกิ่งทิ้งไป เป็นการช่วยลดการคายน้ำ หลักเกณฑ์ในการเลือกกิ่งที่จำต้องตัดทิ้ง มีดังต่อไปนี้
- กิ่งกระโดง เป็นกิ่งที่เจริญจากทรงพุ่ม พุ่มตรงชะลูด สูงกว่ากิ่งอื่นในทรงพุ่ม ถือว่าเป็นกิ่งผิดปกติ ควรตัดทิ้งหรือตัดให้สั้นเสมอทรงพุ่ม
- กิ่งซ้อนกิ่ง หมายถึงกิ่งของต้นไม้ที่มีระดับสูงต่ำใกล้เคียงกันอยู่ในระนาบ(ทิศทาง)เดียวกัน ตั้งแต่ 2 กิ่งขึ้นไป ตัดออกให้เหลือเฉพาะกิ่งที่แข็งแรงกว่าเพียงกิ่งเดียว
- กิ่งกระจุก คือ กิ่งหลายกิ่งที่แตกออกจากลำต้นที่ตำแหน่งเดียวกันและพุ่งออกไปในทิศทางเดียวกัน ในการตัดแต่งทรงพุ่ม ควรเหลือไว้เพียง 1-2 กิ่ง
- กิ่งพิการ เป็นกิ่งที่มีบาดแผลฉีกขาด กิ่งเป็นโรค กิ่งผุกร่อน มีแมลงรบกวนกิ่งที่มีกาฝากเกาะกิน กิ่งหักห้อย ต้องตัดทิ้ง
- กิ่งผิดทิศทาง หมายถึงกิ่งที่มีการเจริญเติบโต พุ่งเข้าในทรงพุ่มหรืออกไปในทิศทางที่ตรงข้าม ถือว่าเป็นกิ่งที่ต้องตัดทิ้ง
- กิ่งขนาดเล็กและกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ในทรงพุ่ม ควรตัดแต่งออกให้หมดเพื่อเป็นการลดการคายน้ำ เนื่องจากกิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเจริญเติบโตอีกต่อไปได้ มักจะทั้งกิ่งในอนาคต