แก้ไขอาคารทรุด
ปัจจุบันปัญหาการทรุดตัวของอาคาร เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งซึ่งมีผลโดยตรงกับความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร และตัวอาคารเอง ซึ่งการทรุดตัวของอาคารนั้นพบเห็นกันมาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ลักษณะการทรุดตัวของอาคารอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับส่วนประกอบต่างๆ ที่ส่งผลกระทบกับระบบฐานรากของอาคาร ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. อาคารทรุดตัวในแนวดิ่ง ซึ่งแบ่งได้ 2 เป็นประเภทดังนี้
1.1 ฐานรากทั้งหมดในอาคารทรุดตัว ซึ่งเป็นการทรุดตัวของอาคารทั้งหลังใกล้เคียงกัน แต่มีการทรุดตัวมาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่ใช้เสาเข็มสั้นวางอยู่บนชั้นดินอ่อนมาก ซึ่งลักษณะการทรุดตัวประเภทนี้ จะไม่ค่อยพบรอยร้าวในโครงสร้างอาคาร
1.2 ฐานรากในอาคารทรุดตัวไม่เท่ากัน เกิดจากฐานรากมีการทรุดตัวที่แตกต่างกันมาก แต่ลักษณะการทรุดตัวของอาคารยังคงรูปในแนวดิ่ง ซึ่งอาคารที่ทรุดตัวประเภทนี้มักจะพบรอยแตกร้าวบนผนังเป็นแนวเฉียงกลางผนัง
2. อาคารทรุดเอียง ส่วนใหญ่เกิดจากการเยื้องศูนย์ของฐานรากอาคาร และเยื้องไปในทิศทางเดียวกัน หรือการทรุดเอียงของฐานรากที่อยู่บริเวณริมด้านนอกของอาคาร ทำให้การทรุดตัวของอาคารเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง และทำให้อาคารด้านตรงข้ามมีลักษณะเหมือนยกขึ้น การทรุดตัวประเภทนี้มักจะไม่เกิดรอยร้าวบนผนัง หรือโครงสร้าง แต่รอยร้าวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่บริเวณตอม่อหรือเสาเข็มของอาคารด้านที่ถูกยกขึ้น
สาเหตุการทรุดตัว ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุดังนี้
1. เสาเข็มสั้นเกินไป
2. เสาเข็มบกพร่อง
3. ฐานรากเยื้องศูนย์
4. ปลายเสาเข็มอยู่บนดินต่างชนิดกัน
5. เกิดการเคลื่อนตัวของดิน
6. เสาเข็มรับน้ำหนักไม่ได้ตามความต้องการ
การแก้ไขอาคารทรุด
การแก้ไขอาคารทรุด สามารถกระทำโดยการเสริมเสาเข็มเข้าไปรับโครงสร้างให้เพียงพอเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักโครงสร้างที่มีปัญหา การกำหนดขนาด จำนวนเสาเข็มนั้นขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์โดยขั้นตอนการวิเคราะห์เป็นดังนี้
- คำนวณน้ำหนักลงฐานราก (Column Load) ที่จะทำการเสริมเสาเข็ม
- เลือกชนิดของเสาเข็ม ขนาด และความยาวซึ่งพิจารณาได้จากข้อมูลดิน
- คำนวณกำลังรับน้ำหนักบรรทุกปลอดภัยของเสาเข็มที่จะเสริมจากข้อมูลดิน ตามชนิด ขนาด และระดับความลึกของปลายเสาเข็มที่จะเลือกใช้
- กำหนดจำนวนเสาเข็มที่จะเสริมในแต่ละฐานราก
- กำหนดตำแหน่งที่จะเสริมเสาเข็ม
- ทำการถ่ายน้ำนหักลงเสาเข็มที่เสริม
ประเภทของเสาเข็มสำหรับงานเสริมฐานราก
1. เสาเข็มเจาะ (Bored Pile)
2. เสาเข็มเหล็ก (Steel Pile)
3. เสาเข็มประกอบ (Composite Pile)
5 ข้อควรระวังก่อนตัดสินใจ จะได้ไม่เสียใจภายหลัง
ดีดบ้าน หรือ ยกบ้าน เป็นที่นิยมเป็นอย่างมากหลังจากเหตุการณ์ปี 54 น้ำท่วมใหญ่หลายจังหวัด และยังคงเป็นฝันร้ายที่บางคนจำได้ไม่ลืม เพราะเกิดผลกระทบทำให้เสียทรัพย์สินจากน้ำท่วมเข้าบ้าน ประกอบกับสภาพภูมิประเทศของกรุงเทพฯและพื้นที่ชานเมืองโดยรอบเป็นที่ลุ่มต่ำแล้วยังถูกล้อมรอบด้วยแม่น้ำ ส่งผลให้เมื่อถึงฤดูมรสุมฝนตกหนัก บ้านที่อยู่ใกล้ริมน้ำมักจะประสบปัญหาน้ำท่วมเฉียบพลัน บางครั้งยังไม่ทันได้เก็บข้าวของน้ำก็เข้าถึงตัวบ้านแล้ว จากเหตุนี้เจ้าของบ้านหลายหลังจึงพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการ “ดีดบ้าน” หรือ “ยกบ้าน” ขึ้นนั่นเองเพราะเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาวและเป็นทางออกที่คิดว่าดีที่สุด แต่ก่อนที่คุณจะไปว่าจ้างผู้รับเหมามาดีดบ้าน ควรที่จะศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อการดีดบ้านอย่างถ่องแท้และละเอียดรอบคอบเสียก่อน มิเช่นนั้นอาจจะมาเสียใจในภายหลัง
1.ก่อนวางแผนจะดีดบ้าน ต้องรู้สภาพความพร้อมของบ้านให้ดี
เจ้าของบ้านบางคนคิดว่าถ้าต้องการดีดบ้านก็สามารถทำได้ง่ายๆ แค่จ้างช่างมายกแล้วก็เสริมเสาก็จบเรื่องแล้ว ในความเป็นจริงควรจะต้องพิจารณาถึงโครงสร้างบ้านเป็นอันดับแรกรวมทั้งต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้บ้านได้รับความเสียหาย หรือก่อให้เกิดอันตรายขึ้นในช่วงขณะที่ดีดบ้าน ซึ่งเรามักจะได้ยินข่าวบ่อยๆ ฉะนั้นถ้าทำการตรวจสอบแล้วพบว่ามีร่องรอยของการผุกร่อนในจุดใหญ่ๆ หรือมีปลวกกินหลายแห่ง แนะนำว่าไม่ควรที่จะดีดบ้านเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลเสียหายอย่างมหาศาลบ้านพังถล่มลงมาในขณะที่กำลังดีดบ้านได้ ทางที่ดีคือรื้อบ้านแล้วสร้างบ้านใหม่ด้วยการยกพื้นสูงขึ้นจะคุ้มกว่า ส่วนถ้าพบว่าเสาเข็มมีการทรุดอยู่ จำเป็นต้องลงเสาใหม่ก่อนทำการดีดบ้านด้วย
2.ก่อนดีดบ้าน วางแผนเรื่องงบประมาณเสียก่อน
หลายบ้านที่ต้องประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมบ้านบ่อยๆเรียกได้ว่าฝนตกทีไหร่น้ำรอการระบายไหลเข้าบ้านเสียทุกที จะขายบ้านหนีก็ไม่ได้ ทางออกที่ดีที่สุดก็คือซ่อมแซมต่อเติมบ้านให้สูงขึ้นแต่อาจยังตัดสินใจไม่ได้เกิดความลังเลว่าจะรื้อบ้านแล้วสร้างใหม่ดีหรือจะดีดบ้านให้สูงขึ้นอะไรจะเหมาะสมมากกว่า ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าเรื่องของค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณคือตัวแปรสำคัญ โดยส่วนใหญ่แล้วการจ้างเหมาราคาดีดบ้านที่เจ้าของบ้านจะต้องเตรียมเงินไว้ราวๆหลักแสน(ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพและความยากง่ายของการดีดบ้านแต่ละกรณีราคาก็จะไม่เท่ากัน)ซึ่งราคานี้จะบวกรวมกับค่าแรง ค่าวัสดุก่อสร้าง ยังมีค่ารายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องต่อเติมเพิ่มขึ้นหลังจากดีดบ้าน เช่น การสร้างบันได้ขึ้นบ้านหรือเทพื้นให้สูงขึ้นตาม เป็นต้น แต่ถึงแม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับการรื้อแล้วสร้างใหม่ย่อมถูกกว่าอย่างแน่นอน บางครั้งการรื้อสร้างใหม่อาจจะต้องเตรียบงบถึงหลักล้าน ดังนั้นหากใครมีงบประมาณจำกัด วิธีการดีดบ้านก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยเลยทีเดียว
3.ก่อนดีดบ้าน อย่าลืมขออนุญาตให้ถูกต้อง
การดีดบ้านตามกฎหมายจะถือว่าเป็นเรื่องของการดัดแปลงบ้านหรืออาคาร เพราะฉะนั้นก่อนเริ่มทำการใดๆจึงมีความจำเป็นที่ต้องขออนุญาตกับทางเขตที่อยู่อาศัยเสียก่อน เพื่อเป็นการป้องกันหากเกิดปัญหาที่ไม่คาดฝันขึ้น สามารถหาผู้ที่จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายที่ระบุไว้ ซึ่งก็คือวิศวกรออกแบบและผู้ควบคุมงานนั่นเอง
4.ก่อนดีดบ้าน จะดีดอย่างไรให้ปลอดภัย
หลายครั้งที่มักจะมีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับการดีดบ้าน เช่น การเกิดอุบัติเหตุบ้านตกลงมาทับคนงานเสียชีวิต หรือดีดบ้านแล้วบ้านพังถล่มลงมาสร้างความเสียหายต่อบ้านทั้งหลังอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วยการใช้ระบบหรือวิธีการเก่าๆหรือคิดวิธีเอง อย่างแม่แรง รอก หรืออุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้ในการดีดบ้าน ดังนั้นการดีดบ้านไม่ควรจ้างบริษัทที่ไม่มีวิศวกรควบคุม เพราะวิศวกรจะมีวิธีการเพิ่มความปลอดภัยโดยสร้างฐานรองรับอุปกรณ์ดีดบ้านอย่างเช่นระบบแม่แรงไฮโดรลิค ซึ่งก่อนที่จะนำมาใช้ต้องตรวจสอบทุกครั้งว่ามีสภาพพร้อมที่จะนำมาใช้งาน อีกทั้งข้อดีของแม่แรงไฮโดรลิคคือ สามารถที่จะยกทุกจุดในบ้านได้พร้อมกัน แล้วยังเช็คระดับความสูง ฐานราก ความลาดเอียงได้อีกด้วย จึงมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีแค่มาตรฐานของอุปกรณ์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมไปถึงการคิดคำนวณ วางแผน ความสูงของบ้านเป็นสิ่งสำคัญ
5.เตรียมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากดีดบ้าน
หลังจากดีดบ้านขึ้นแล้วตัวบ้านก็จะสูง สิ่งที่ต้องเตรียมเพิ่มเติมมาก็คือระบบงานบันไดซึ่งต้องออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้สูงอายุ รวมทั้งเรื่องของระบบไฟฟ้า และน้ำ เท่ากับว่าต้องวางระบบใหม่เกือบทั้งหมด เพราะในช่วงที่คนงานเริ่มทำการดีดบ้านช่างจะต้องตัดระบบน้ำ ไฟ ทั้งหมด ดังนั้นเมื่อทำการดีดบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องเดินสายใหม่จึงต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษเพราะหากเดินระบบได้ไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดปัญหาอย่างไฟช็อตหรือน้ำไหลรั่วซึมได้