พิธีทำบุญเลี้ยงพระ
การทำบุญเลี้ยงพระ เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวพุทธ ในการทำบุญนั้นมักนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็น ซึ่งเรียกกันว่า สวดมนต์เย็น พอรุ่งขึ้นก็มีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ถ้าเป็นเวลาเช้าก็เรียกว่า เลี้ยงพระเช้า ถ้าเป็นเวลาเพลก็เรียกว่า เลี้ยงพระเพล ซึ่งชาวพุทธนิยมทำบุญเลี้ยงพระกันในงามมงคล เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานวันครบรอบวันเกิด งานวันมงคลสมรส และงานอวมงคล เช่น ทำบุญในงานพิธีศพ หรือพิธีเกี่ยวกับการตาย เป็นต้น
ในการทำบุญเลี้ยงพระผู้ที่เป็นเจ้าภาพ หรือผู้จัดงานพึงปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. อาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
2. เตรียมสถานที่และอุปกรณ์ ตั้งพระพุทธรูปพร้อมเครื่องบูชา ตกแต่งสถานที่บริเวณพิธี ปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์ (บางแห่งจะมีการวางด้ายสายสิญจน์)
3. เตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ตามความเหมาะสม เช่น น้ำดื่ม หรืออื่น ๆ เช่น เจ้าภาพบางคนต้องการให้พระสงฆ์ทำน้ำมนต์ ก็จะต้องตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์
4. เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมแล้ว เจ้าภาพนิมนต์พระสงฆ์นั่งยังอาสนะที่จัดไว้ และประเคนเครื่องดื่มรับรอง
5. เมื่อได้เวลาแล้ว เจ้าภาพจุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชา กราบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง
6. อาราธนาศีลและรับศีล
7. อาราธนาพระปริตร ฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
8. ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ แล้วกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลแก่สรรพสัตว์
9. รับพรจากพระสงฆ์ที่สวดอนุโมทนา (ถ้ามีการทำน้ำมนต์ ก็จะรับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์)
10 เป็นอันเสร็จพิธี
สำหรับพิธีทำบุญเลี้ยงพระในงานอวมงคล เช่น ทำบุญหน้าศพ หรือทะบุญอัฐิ จะมีขั้นตอนส่วนใหญ่เหมือนกับงานทำบุญมงคล แต่มีข้อแตดต่างกันบางประการ ดังนี้
1. การอาราธนาพระสงฆ์ใช้คำว่า "ขออาราธนาศีลสวดพระพุทธมนต์"
2. ไม่ต้องตังภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์และไม่ต้องวงสายสิญจน์
3. เตรียมสายสิญจน์ หรือภูษาโยงต่อจากศพ เพื่อใช้บังสุกุล
ทำไมต้อง ทำบุญบ้าน และต้องเตรียมพร้อมอย่างไร
ทำไมต้อง ทำบุญบ้าน
นอกจากเหตุผลเพื่อการเสริมสิริมงคลให้กับบ้านแล้ว หลายคนเชื่อว่าการ ทำบุญบ้าน ยังหมายถึงการแสดงเคารพต่อพระรัตนตรัย และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกียรติกับเหล่าเทวดา เจ้าที่เจ้าทางที่อาศัยอยู่ ณ สถานที่นั้นๆ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของผู้อยู่อาศัย
นิมนต์พระกี่รูป
จำนวนพระตามประเพณีนิยมในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่คือเลขคี่ ซึ่งนิยมตั้งแต่ 5, 7 หรือ 9 รูป โดยหากสถานที่จัดงานทำบุญมีพื้นที่มากพอ แนะนำให้นิมนต์พระจำนวน 9 รูปจะเหมาะสมที่สุด
วันไหนดี
แม้ว่าฤกษ์ที่ดีที่สุดของการ ทำบุญบ้าน จริงๆแล้วก็คือฤกษ์ที่เจ้าของบ้านสะดวก อาจจะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เจ้าของบ้านและหมู่ญาติสามารถมารวมตัวกันได้ บางบ้านดูปฏิทินจีนประกอบให้เลือกวันที่ตรงกับวันธงไชย (วันดีหรือวันที่มีฤกษ์ดีที่เหมาะสมกับสิ่งที่ดี ช่วยส่งเสริมให้มีความสุข ความสำเร็จ เช่นการขึ้นบ้านใหม่ พิธีแต่งงาน ฤกษ์เข้าหอ ส่งตัว การออกรถใหม่ การเปิดบริษัท โรงงาน เป็นต้น) หากท่านใดกำลังมองหาฤกษ์ดีในการทำบุญทางซอสามสายรวบรวมวันฤกษ์ดีมาให้ทุกคน
เริ่มพิธีกี่โมง
ช่วงเวลาการทำบุญขึ้นบ้านใหม่สามารถเลือกว่าจะถวายภัตตาหารเช้าหรือเพล โดยถ้าเป็นการถวายภัตตาหารเช้าให้เริ่มเวลาประมาณ 7.30 น. หรือหากเลือกถวายภัตตาหารเพลก็ควรเริ่มพิธีเวลาประมาณ 10.30 น. อย่างไรก็ตามเวลาก็อาจยืดหยุ่นตามศาสนกิจของพระวัดที่เราได้ทำการนิมนต์ด้วย
เตรียมสถานที่อย่างไร
การจัดสถานที่ก่อนวันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ควรทำความสะอาดบ้านให้สะอาด เก็บสิ่งของต่างๆให้เป็นระเบียบเรียบร้อย กำหนดมุมที่จะจัดวางโต๊ะหมู่บูชา พื้นที่สำหรับสงฆ์ ซึ่งเป็นมุมที่ไม่ควรแขวนหรือประดับภาพใดๆเหนือศีรษะของพระภิกษุสงฆ์
เตรียมอุปกรณ์สำคัญอะไรบ้าง
อุปกรณ์สำคัญในการ ทำบุญบ้าน ได้แก่โต๊ะหมู่บูชา อาสนะพระ ตาลปัตร ขันน้ำมนต์ แป้งเจิม แผ่นทอง สายสิญจน์ เทียนน้ำมนต์ ดอกไม้ ธูปเทียน พานพุ่ม เป็นต้น โดยจัดวางให้เป็นระเบียบถูกที่ถูกตำแหน่งดังนี้
- โต๊ะหมู่บูชาพระ ที่จัดเพื่อการแสดงความเคารพในพระรัตนตรัย จำต้องมีพระพุทธรูปที่เป็นพระประธาน ทิศการตั้งโต๊ะหมู่ไม่ได้ถูกกำหนดมาแบบตายตัว ควรพิจารณาจากความเหมาะสมของสถานที่โดยวางไว้ด้านขวามือของพระสงฆ์องค์ที่ 1 และไม่ควรตั้งอยู่ใต้บันได หน้าห้องน้ำ หรือหันไปในมุมอับเป็นต้น
- อาสนะ การจัดวางอาสนะให้มีระยะห่างพอดี ไม่ชิดติดกันจนเกินไป คำนึงถึงการวางข้าวของเครื่องใช้ของพระสงฆ์ด้วย (ตาลปัตร พร้อมน้ำดื่ม กระดาษชำระ และกระโถน) ทางซอสามสายมีบริการเช่าชุดอาสนะ อุปกรณ์สงฆ์ ลายฉลุทองสวยงามให้บริการ
- อาหาร แบ่งออกเป็น 3 ชุดได้แก่ชุดบูชาข้าวพระพุทธ สำหรับพระสงฆ์ตามจำนวน และสำหรับเจ้าที่เจ้าทาง (หรือศาลพระภูมิที่ได้ทำการตั้งวางไว้แล้วของแต่ละบ้าน) ประกอบด้วยข้าว อาหารคาว ผลไม้ ของหวาน และน้ำดื่ม ชุดสำหรับพระพุทธวางไว้ด้านหน้าโต๊ะหมู่ สำหรับภัตตาหารของสงฆ์สามารถแบ่งออกเป็น 2 วง (ในกรณีนิมนต์พระ 9 รูป) สำหรับเจ้าที่เจ้าทางจัดเป็นสำรับเช่นกันแล้วนำไปวางไว้นอกชายคาบ้าน อาหารที่เป็นมงคลนิยมถวายได้แก่ ขนมมงคลไทย 5 อย่าง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน และขนมถ้วยฟู ผลไม้มงคลอย่างกล้วย มะพร้าว สาลี่ ทับทิม และส้ม
- ของถวายสังฆทาน สามารถถวายได้ทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภค ปัจจัย หรือผ้าไตรที่หลายบ้านนิยมถวายร่วมด้วยเพื่อความเป็นสิริมงคล
- อุปกรณ์เพื่อการการเจิมและการปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ ที่จะทำเป็นขั้นตอนท้ายสุดของพิธี โดยเจ้าของบ้าน (ฝ่ายชาย) ต้องเดินถือขันน้ำมนต์นำพระสงฆ์ไปตามห้องต่างๆเพื่อการปะพรม และปิดท้ายที่การเจิมประตู (ส่วนมากนิยมที่ประตูด้านหน้า) โดยอุปกรณ์ประกอบไปด้วยขี้ผึ้งสำหรับติดแผ่นทอง แผ่นทอง หรืออาจใช้เพียงแป้งเจิมหรือดินสอพองก็ได้