การทำบุญบ้าน หรือ ที่บริษัท เป็นการทำบุญเสริมสิริมงคลให้กับตัวเอง บ้านทำบุญ รวบรวมหลักการน่าสนใจในการทำบุญบ้านแบบง่ายๆ มาฝากกันค่ะ การทำบุญเลี้ยงพระ การทำบุญบ้านไม่ได้ยากอย่างที่คิด เรามีข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่จะจัดงานทำบุญ มาฝากกันนะคะ…
ทำไมต้องทำบุญบ้านใหม่ ?
การทำบุญบ้านหรือการทำบุญบริษัท นอกจากจะเป็นประเพณี ที่เป็นสิริมงคลแก่เจ้าภาพแล้ว หากเนื้อแท้ของการทำบุญ คือ การแสดงความเคารพต่อพระรัตนตัยอันเป็นที่พึ่งระลึกอันสูงสุด และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี เป็นการให้เกียรติกับเหล่าเทวดา เจ้าที่ เจ้าทาง ที่อาศัยอยู่ ณ สถานที่นั้น เพื่อให้การเริ่มต้นเข้าอยู่อาศัยให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข หรือการเริ่มกิจการประสบแต่ความสุขและความสำเร็จ
เริ่มพิธีกี่โมง ?
ช่วงเวลาการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ สามารถเลือกว่าจะถวายภัตตาหารเช้าหรือเพล โดยถ้าเป็นการถวายภัตตาหารเพล ก็ควรเริ่มพิธีการเวลาประมาณ 10.30 น. อย่างไรก็ตามเวลาก็อาจยืดหยุ่นตามศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์ วัดที่เราได้ทำการนิมนต์ด้วย
การนิมนต์พระ ต้องนิมนต์กี่รูป ?
จำนวนพระตามประเพณีไทยนิยมในการ " ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ " คือ เลขคี่ ซึ่งนิยมตั้งแต่ 5, 7, หรือ 9 รูป โดยหากสถานที่จัดงานทำบุญ มีพื้นที่จำ มากพอแนะนำให้นิมนต์พระ จำนวน 9 รูป จะเหมาะสมที่สุด
การนิมนต์พระ ต้องแจ้งรายละเอียดในการนิมนต์ดังนี้
• พิธีทำบุญงานอะไร นิมนต์ตอนเช้า หรือ เพล แต่ง งานทำบุญบ้าน งานครบรอบ ฯลฯ
• แจ้งวันที่จะจัดงาน สถานที่และจำนวนพระสงฆ์ ที่ต้องการนิมนต์
• การเดินทาง จะให้พระสงฆ์เดินทางมาเอง หรือ จะมีรถไปรับ เพื่อความสะดวก " บ้านทำบุญ " มีบริการการรับส่งพระภิกษุสงฆ์ให้อยู่แล้วค่ะ
การเลือกวัดที่จะมาทำบุญ ?
• ควรเลือกวัดที่อยู่ใกล้กับสถานที่จัดงานทำบุญ เพื่อความสะดวกในการเดินทางของคณะพระภิกษุสงฆ์หรือพระที่มีหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติงานศาสนกิจ หรือ การเรียนศึกษาปริยัติธรรม จะได้สามารถเดินทางกลับวัดได้ทัน
• เจ้าภาพสามารถนิมนต์พระแบบเฉพาะเจาะจง หรือ ไม่เฉพาะเจาะจง
• การถวายทานที่เฉพาะเจาะจงเรียกว่า " ปาฏิคลิกทาน " ส่วนการถวายทานที่ไม่เฉพาะเจาะจง เรียกว่า " สังฆทาน "
เตรียมอุปกรณ์สำคัญอะไรบ้าง ?
อุปกรณ์สำคัญในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ได้แก่ โต๊ะหมู่บูชา อาสนะพระ ตาลปัตร ขันน้ำมนต์ แป้งเจิม แผ่นทอง สายสิญจน์ เทียนน้ำมนต์ ดอกไม้ ธูปเทียน พานพุ่ม เป็นต้น โดยจัดวางให้เป็นระเบียบถูกที่ ถูกตำแหน่งดังนี้
• โต๊ะหมู่บูชาพระ ที่จัดเพื่อการแสดงความเคารพในพระรัตนตรัย จำเป็นต้องมีพระพุทธรูปที่เป็นพระประธาน ทิศการตั้งโต๊ะหมู่ไม่ได้ถูกกำหนดมาแบบตายตัว ควรพิจารณาจากความเหมาะสม ของสถานที่ โดยจัดวางไว้ด้านขวามือของพระสงฆ์องค์ที่ 1 และไม่ควรตั้งอยู่ใต้บันได หน้าห้องน้ำ หรือหันไปในมุมอับ
เป็นต้น
• อาสนะ สามารถหยิบยืมจากวัดมาใช้ได้ โดยอาสนะให้จัดวางให้มีระยะห่างพอดี ไม่ชิดติดกันจนเกินไป คำนึงถึงการวางข้าวของเครื่องใช้ของพระสงฆ์ด้วย (ตาลปัตร พร้อมน้ำดื่ม กระดาษ ชำระ และกระโถน)
• อาหาร แบ่งออกเป็น 3 ชุด ได้แก่ชุดบูชาข้าวพระพุทธ สำหรับพระสงฆ์ตามจำนวน และ สำหรับเจ้าที่ เจ้าทาง (หรือศาลพระภูมิที่ได้ทำการตั้งวางไว้แล้วของแต่ละบ้าน) ประกอบด้วย ข้าว อาหารคาว ผลไม้ ของหวาน และน้ำดื่ม ชุดสำหรับพระพุทธวางไว้ด้านหน้าโต๊ะหมู่สำหรับภัตตาหารของสงฆ์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 วง (ในกรณีนิมนต์พระ 9 รูป) สำหรับเจ้าที่ เจ้าทาง จัดเป็นสำรับเช่นกันแล้วนำไปวางไว้นอกชายคาบ้าน อาหารที่เป็นมงคลนิยมถวายได้แก่ ขนมมงคลไทย 5 อย่าง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน และขนมถ้วยฟู ผลไม้มงคลอย่างกล้วย มะพร้าว สาลี่ ทับทิม และส้ม
• ของถวายสังฆทาน สามารถถวายได้ทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภค ปัจจัย หรือผ้าไตรที่หลายบ้านนิยมถวายร่วมด้วยเพื่อความเป็นสิริมงคล
• อุปกรณ์เพื่อการเจิมและการปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ ที่จะทำเป็นขั้นตอนสุดท้ายสุดของพิธี โดยเจ้าภาพ (ฝ่ายชาย) ต้องเดินถือขันน้ำมนต์นำพระสงฆ์ไปตามห้องต่างๆ เพื่อการปะพรม และปิดท้ายที่การเจิมประตู (ส่วนมากนิยมที่ประตูด้านหน้า) โดยอุปกรณ์ประกอบไปด้วยขี้ผึ้งสำหรับติดแผ่นทอง หรืออาจใช้เพียงแป้งเจิม หรือ ดินสอพองก็ได้
จัดเตรียมสถานที่อย่างไร ?
• การจัดสถานที่ก่อนวันทำบุญบ้านใหม่ ควรทำความสะอาดบ้านให้สะอาด หรือทำบุญบริษัทควรเก็บสิ่งของต่างๆให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
• กำหนดมุมที่จะจัดวางโต๊ะหมู่บูชา พื้นที่สำหรับสงฆ์ซึ่งเป็นมุมที่ไม่ควรแขวน หรือประดับภาพใดๆ เหนือศีรษะของพระภิกษุสงฆ์
• นิมนต์พระสงฆ์เข้ายังสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ ถวายน้ำดื่ม สนทนาธรรม และพร้อมเริ่มพิธีการเมื่อถึงเวลาฤกษ์
• จุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา ประธานฝ่ายเจ้าภาพจุดเทียนโดยเริ่มจากด้านขวาของพระพุทธก่อนแล้วจึงตามด้วยเทียนด้านซ้าย และธูปตามลำดับ
• กราบพระพุทธ แบบเบญจางค์ประดิษฐ์ ประธานฝ่ายเจ้าภาพกล่าว บูชารัตนตรัย ตามด้วย อาราธนาศีล 5 ฝ่ายเจ้าภาพกล่าวตามพระสงฆ์ด้วยบทสมาทานศีล ฝ่ายเจ้าภาพกล่าว บทอาราธนาพระปริตร
• ประธานฝ่ายเจ้าภาพจุดเทียนสำหรับทำน้ำมนต์ เมื่อพระสงฆ์สวดถึง “ อเสวนา จ พา ลานัง “ ถวายข้าวพระพุทธ ประธานถวายพระพุทธโดยวางภัตตาหารบนโต๊ะหรือผ้าขาวด้านหน้าโต๊ะหมู่บูชา วางให้สูงกว่าอาสนะพระสงฆ์
• ประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เจ้าภาพและแขกผู้มาร่วมงานช่วยกันประเคน
• เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วให้นำจตุปัจจัย ดอกไม้ ธูปเทียนและสังฆทานมาวางรอไว้ที่หน้าพระสงฆ์ และ เจ้าภาพเข้ามาที่ต่อหน้าพระเพื่อยกถวาย หลังจากที่กล่าวคำถวายสังฆทานแล้ว
• ลาข้าวพระพุทธต่อเนื่องด้วยการถวายสังฆทานด้วยบทถวายสังฆทาน
• พระสงฆ์สวดอนุโมทนา เจ้าภาพและแขกผู้ร่วมงานกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
• พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์พร้อมทั้งสวดชยันโตฯ พนมมือรับน้ำพระพุทธมนต์
• เจ้าภาพนำจตุปัจจัยขึ้นรถ เพื่อส่งพระภิกษุสงฆ์กลับวัด
• เสร็จพิธี
การกำหนดวันที่จะจัดงานทำบุญ วันไหนดี ?
จะเลือกวันฤกษ์ดี หรือ วันฤกษ์สะดวก แล้วแต่ความพอใจของเจ้าภาพสะดวก อาจจะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เจ้าภาพและหมู่คณะญาติ สามารถมารวมตัวกันได้ แต่ควรเตรียมการแต่เนิ่นๆ เพราะพระภิกษุสงฆ์อาจติดกิจนิมนต์ในวันเสาร์-วันอาทิตย์ บางตำราโบราณยังมีความเชื่อว่าไม่ควรทำในวันเสาร์ (เชื่อกันว่าเป็นวันแห่งโทษทุกข์ รวมถึงดาวเสาร์ยังจัดเป็นดาวแห่งบาปเคราะห์ ) บางบ้านดูปฏิทินจีนประกอบให้เลือกวันที่ตรงกับวันธงไชย (วันดีหรือวันที่มีฤกษ์ที่เหมาะสมกับสิ่งที่ดี ช่วยส่งเสริมให้มีความสุขความสำเร็จ เช่นการขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน ฤกษ์เข้าหอส่งตัว การออกรถใหม่ การเปิดบริษัท โรงงาน เป็นต้น)ที่สำคัญควรนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ ไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย หนึ่งเดือน