ทำความรู้จักโครงสร้างภายในบ้าน
24 กุมภาพันธ์ 2565
ผู้ชม 77 ผู้ชม
ทำความรู้จักโครงสร้างภายในบ้าน
นอกจากโครงการต่างๆที่อยู่ภายนอกบ้านแล้ว โครงสร้างในบ้านก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งการต่อเติมในบ้านส่วนใหญ่จะเป็นการกั้นผนัง ซึ่งถ้าเราไม่รู้แลยว่าผนังบ้านเราทำจากอะไรแล้วเกิดไปเจาะ ทุบ ในส่วนที่เป็นโครงสร้างหลักก็อาจจะทำให้บ้านเราเสียหายได้ โดยโครงสร้างภายในบ้านที่เราต้องดูมีดังนี้
ผนังภายในบ้าน
การต่อเติมเพิ่มห้องหรือลดจำนวนห้องภายในบ้านนั้นจำเป็นจะต้องทราบโครงสร้างของผนังภายในบ้าน เนื่องจากผนังบางชนิดสามารถต่อเติมได้ไม่มีปัญหา แต่บางชนิดไม่สามารถทุบหรือเปลี่ยนแปลงได้ โดยส่วนใหญ่แล้วในบ้านจัดสรรมักมีโครงสร้างผนังภายใน ดังนี้
ผนังก่ออิฐฉาบปูน
ผนังก่ออิฐ คือ การนำอิฐมาประสานต่อกันโดยมีปูนก่อเป็นตัวเชื่อมนั่นเองค่ะ เมื่อก่อเสร็จแล้วจะมีการฉาบปูนให้ผนังมีนั้นเรียบสวยงาม ซึ่งต้องอาศัยช่างที่มีความชำนาญ ผนังก่ออิฐมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น อิฐมอญ, อิฐมวลเบา, อิฐขาว, ซีเมนต์บล็อก หรืออิฐประสาน และวิธีการก่อสร้างมีทั้งก่อแบบเต็มแผ่นและก่อแบบครึ่งแผ่น
ผนังก่ออิฐนั้นมีน้ำหนักมาก ประมาณ 60-180 กิโลกรัม/ตารางเมตร (ขึ้นอยู่กับชนิดของอิฐ) ทำให้ต้องก่อผนังตามแนวคานเท่านั้น แต่เป็นผนังที่มีความแข็งแรงใช้งานได้ทั้งภายใน, ภายนอก รวมถึงพื้นที่ที่มีน้ำขังด้วย สามารถตกแต่งพื้นผิวได้หลายรูปแบบ และสามารถเจาะช่องเปิดได้ค่ะ ทำให้บ้านที่มีโครงสร้างแบบก่ออิฐมีอิสระในการเลือกตกแต่ง, เจาะแขวน, ต่อเติม ได้มากกว่าแบบอื่นๆ
ผนังสำเร็จรูป ( Precast )
ในปัจจุบันโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมนั้นนิยมใช้การก่อสร้างแบบ Precast กันมากเลยนะคะ Precast นั้นเป็นระบบการก่อสร้างชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปมาจากโรงงาน ทำให้ควบคุมคุณภาพได้ง่าย ไม่ต้องมากังวลว่าช่างมีฝีมือไหม ชิ้นส่วนต่างๆมีสัดส่วน และช่องเปิด รวมถึงท่องานระบบที่คำนวณมาให้เหมาะกับการใช้งานเรียบร้อยแล้ว และสามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว เหมือนกับตัวต่อเลโก้ ที่ขนส่งมาเป็นชิ้นๆและประกอบกันได้เลยที่หน้างานค่ะ
โดยส่วนใหญ่แล้วผนังของโครงสร้างแบบ Precast มักเป็นผนังรับน้ำหนักที่ทำหน้าที่เป็นทั้งโครงสร้างและผนัง ทำให้มีความแข็งแรง รับแรงด้านข้างได้มากกว่าระบบก่อ แต่ก็ทำให้มีข้อจำกัดด้านการเจาะช่องเปิด และไม่สามารถทุบผนังบางส่วนทิ้งได้ เนื่องจากผนังทำหน้าที่เป็นโครงสร้างด้วยนั่นเองค่ะ ทำให้ไม่เหมาะกับการต่อเติมหรือดัดแปลง
เมื่อเราทราบโครงสร้างเดิมของบ้านแล้วก็มาถึงขั้นตอนในการต่อเติมค่ะ สำหรับการต่อเติมแนะนำว่าให้ทำการคุยขอบเขตกับผู้รับเหมาหรือผู้ออกแบบให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันการทำงานไปเรื่อยๆไม่มีแผนงานซึ่งจะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายได้ โดยส่วนต่างๆในบ้านที่เรามักทำการต่อเติมได้แก่
ครัวหลังบ้าน
ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะว่าการต่อเติมที่นิยมที่สุดในบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือทาวน์โฮมนั้นคือการทำครัวเพิ่มเติมด้านหลังบ้าน เพราะบางโครงการนั้นไม่ได้มีห้องครัวปิด เวลาทำอาหารจึงมีกลิ่นฟุ้งกระจายไปยังห้องอื่นๆได้ และยังทำความสะอาดยากด้วย การมีครัวนอกบ้านทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาดและไม่ส่งกลิ่นรบกวนภายในบ้าน ครัวด้านหลังบ้านนั้นถ้าต้องการทำเป็นครัวในร่ม แบบมีหลังคา ควรคำนึงถึงข้อกฎหมายว่าผิดหรือไม่ ถ้าไม่ก็สามารถทำได้เลยแต่ถ้าติดกฎหมาย เราควรทำเป็นพื้นที่ครัวเปิดโล่งแทนค่ะ
พื้น : พื้นครัวควรเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นอย่างน้อย สำหรับใครที่ต้องการให้เกิดการทรุดตัวน้อยที่สุดหรือต้องการทำโครงสร้างรับหลังคาด้วย ควรมีเสาเข็มคอนกรีต ประเภทหกเหลี่ยมหรือแปดเหลี่ยมชนิดกลวงเพิ่มเติมค่ะ สำหรับวัสดุปูพื้นควรเป็นวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย เช่น กระเบื้องเซรามิก, กระเบื้องเกรนิตโต้ เป็นต้น
เคาน์เตอร์ : เคาน์เตอร์ครัวถ้าอยู่กลางแจ้งควรเป็นเคาน์เตอร์ที่แข็งแรงทนทาน และทำความสะอาดง่าย เช่น เคาน์เตอร์ก่อ เป็นต้น
หลังคา : หลังคาพื้นที่ครัวควรใช้โครงสร้างที่ก่อสร้างได้ง่าย สามารถทนความร้อนได้ มักนิยมใช้เป็นโครงสร้างเหล็ก , คอนกรีต เป็นต้น วัสดุมุงหลังคาควรใช้วัสดุโปร่งแสง ให้แสงเข้าถึงได้บ้างช่วยให้ครัวสว่าง และไม่อึดอัดค่ะ
ลานจอดรถ
ในส่วนใหญ่แล้วบ้านทุกหลังมักมีรถยนต์ส่วนตัวเพื่อใช้ในการเดินทางในชีวิตประจำวัน โครงการจัดสรรต่างๆจึงมักมีที่สำหรับจอดรถมาให้ ตั้งแต่ 1 คันขึ้นไป โดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่บริเวณด้านหน้าบ้านและไม่ได้มีหลังคาคลุมตลอดทั้งคัน ทำให้ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ต้องการต่อเติมหลังคาที่ลานจอดรถเองค่ะ
พื้น : พื้นลานจอดรถควรใช้เป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กวางบนคาน หรือลงเสาเข็ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเดิมของบ้านด้วยนะคะ ถ้าไม่มีเสาเข็มมาให้อาจจะต้องระวังเรื่องการทรุดตัวในอนาคต หากต้องการเทพื้นเพิ่มเติมต่อจากโครงสร้างเดิม ควรเว้นระยะรอยต่อประมาณ 1 – 5 เซนติเมตร เพื่อลดปัญหาการแตกร้าวเนื่องจากการทรุดตัว
หลังคา : โครงสร้างหลังคาที่จอดรถสามารถทำได้ทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเหล็ก, โครงสร้างสำเร็จรูป ขึ้นอยู่กับความชอบของเจ้าของบ้าน แต่การต่อเติมหลังคาควรคำนึงถึงโครงสร้างที่พื้นด้วยค่ะ ถ้าพื้นไม่ได้ลงเสาเข็มแนะนำให้ทำเสาเข็มแยกเพื่อรับโครงสร้างหลังคาด้วย
สำหรับการต่อเติมหลังคา สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือโครงสร้างค่ะ เนื่องจากมีผลต่อแบบที่เราต้องการโดยตรง มีไว้รับน้ำหนักของวัสดุมุงหลังคา รวมถึงมีผลเรื่องของความลาดเอียงของหลังคาด้วย และการต่อเติมหลังคามักจะเห็นได้ชัดจากด้านหน้าบ้าน ทำให้เป็นเหมือนหน้าตาของบ้านเลยทีเดียวค่ะ โดยทั่วไปแล้วมักนิยมใช้โครงสร้างอยู่ไม่กี่ชนิดเท่านั้น เราไปดูกันเลยค่ะว่ามีโครงสร้างแบบไหนกันบ้าง
โครงสร้างเหล็ก
ส่วนใหญ่แล้วพื้นที่ต่อเติมหลังคาอย่างบริเวณลานจอดรถ หรือครัวด้านหลังบ้าน มักจะใช้โครงสร้างที่สามารถทำได้รวดเร็วและไม่ยุ่งยากนั่นก็คือโครงสร้างเหล็กนั่นเอง ซึ่งรูปแบบของเหล็กที่นิยมใช้ก็มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็น เหล็กกล่อง, เหล็กตัว C สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง โครงสร้างเหล็กเองก็มีหลายประเภท เหล็กในตลาดส่วนใหญ่เป็นเหล็กรีดซ้ำ หมายถึงเหล็กที่ผ่านกระบวนการรีไซค์เคิลมาแล้ว หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เหล็กเบา นั่นเองค่ะ มีราคาที่ประหยัด ซึ่งแน่นอนว่าคุณสมบัติก็จะด้อยกว่าเหล็กเต็ม โดยเราสามารถสังเกตได้จากมาตรฐานต่างๆเช่น มอก. , ASTM, BSI, JIS เป็นต้นค่ะ ความยาวเหล็กทั่วไปจะอยู่ที่ 6 เมตร เพื่อให้สะดวกในการขนส่ง แต่การสั่งเหล็กนั้นควรวัดจากหน้างานเพื่อให้พอดี และเหลือเศษน้อยที่สุดจะได้ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณค่ะ
การติดตั้งโครงหลังคาเหล็กส่วนใหญ่แล้วจะทำที่หน้างาน อาศัยความชำนาญของช่างพอสมควร ทำให้งานเชื่อมออกมาแข็งแรงได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้การเชื่อมแบบเชื่อมแต้ม เพื่อยึดเหล็กแต่ละท่อนให้ติดกันคร่าวๆก่อน จากนั้นจึงเชื่อมเต็มค่ะ เรียบร้อยแล้วจะมีการทาสีกันสนิมโดยต้องทาให้ทั่วทุกด้านของเหล็ก ถ้าเป็นเหล็กกล่องก็ควรมีการชุบสีกันสนิมเพื่อให้ทั่วถึงทั้งด้านในและด้านนอก โครงสร้างเหล็กจะสามารถออกแบบให้เหมาะกับรูปทรงหลังคาได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นทรงหลายเหลี่ยม หรือ ทรงโค้งก็สามารถดัดได้ รวมถึงมีระยะยื่นออกมาได้ไกล (ชายคา) ตามความสามารถของเหล็ก
โครงสร้างสำเร็จรูป
โครงสร้างสำเร็จรูปทำมาจากเหล็กที่มีกำลังดึงสูง มักมีการเคลือบผิวกันสนิมด้วยกัลวาไนซ์ ส่วนใหญ่จึงนิยมเรียกว่า โครงหลังคากัลวาไนซ์ และมีการเคลือบผิวเพิ่มเติมด้วยอลูมิเนียมซิงค์ หรือ แมกนีเซียมซิงค์ ซึ่งทำให้มีคุณสมบัติสูง เช่น การทนต่อกรดเกลือ เป็นสาเหตุให้ราคาแพงกว่านั้นเอง เหมาะกับงานที่มีความต้องการพิเศษ เช่น บ้านริมทะเล เป็นต้น
การเตรียมโครงสร้างสำเร็จรูปจะเกิดขึ้นที่โรงงาน โดยเจ้าของบ้านหรือสถาปนิกจะเป็นคนสั่งแบบ ให้เจ้าหน้าที่มาวัดขนาดของพื้นที่ก่อสร้างที่หน้างาน เพื่อนำไปคำนวณโครงสร้างแต่ละท่อนด้วยวิศวกร เมื่อผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงนำไปประกอบที่หน้างานโดยช่างที่มีความชำนาญค่ะ และมักจะใช้ตะปูเกลียว (สกรู) เป็นตัวยึดตามแบบ จะไม่มีการเชื่อมและงานทาสีกันสนิม จึงทำได้รวดเร็วมากกว่าโครงสร้างเหล็ก
โครงสร้างสำเร็จรูปจะมีลักษณะเป็นโครงถัก ประกอบจากเหล็กกัลวาไนซ์หลายท่อน ทำให้มีข้อจำกัดด้านรูปแบบของหลังคา และมีระยะยื่น (ชายคา) ออกมาได้ไม่มากนัก และต้องใช้บริการจากผู้ผลิตแต่ละราย ไม่สามารถทำเองได้ค่ะ โดยทั่วไปมักเป็นหลักคาทรงจั่ว , ปั้นหยา รูปทรงทั่วไปเป็นต้น
ห้องด้านข้างบ้าน
สำหรับคนที่มีพื้นที่ดินเยอะ และต้องการต่อเติมห้องเพิ่มด้านข้างหรือด้านหลังตัวบ้าน ควรต่อเติมโดยแยกโครงสร้างใหม่ออกจากโครงสร้างเดิม เนื่องจากโครงสร้างเดินนั้นตั้งอยู่บนเสาเข็มที่มีการตอกไปก่อนแล้วทำให้เกิดอัตราการทรุดไม่เท่ากับโครงสร้างใหม่ ถ้าเราต่อเติมโดยให้โครงสร้างใหม่ต่อกับบ้านเดิมอาจจะทำให้เกิดความเสียหายจากการทรุดได้
พื้น : พื้นโครงสร้างห้องที่ต่อเติมควรเป็นโครงสร้างที่ลงเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง เนื่องจากห้องที่ต่อเติมออกมามีอัตราการทรุดสูง เพราะต้องรองรับน้ำหนักมากทั้งผนังและหลังคาค่ะ
ผนัง : การทำผนังห้องควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของที่ตั้ง ถ้ามีความชื้นสูงหรือต้องอยู่ภายนอกก็ไม่ควรใช้ผนังโครงเบา ควรใช้เป็นผนังก่อจะแข็งแรงทนทานมากกว่าค่ะ
หลังคา : หลังคาสามารถทำได้ทุกรูปแบบโครงสร้าง มีจุดสำคัญคือวัสดุมุงที่เราต้องการใช้ ซึ่งเป็นตัวกำหนดสไตล์ และรูปทรงหลังคา นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติทางวัสดุที่ต่างกัน เช่น กระเบื้องลอน มีขนาดใหญ่สามารถทำองศาหลังคาได้ต่ำ แต่จะเกิดเสียงดังเมื่อฝนตก เป็นต้น
การต่อเติม-ทุบ ผนังภายในบ้าน
ใครที่ต้องการพื้นที่ภายในบ้านที่มากขึ้น หรือมีคนใช้งานภายในบ้านน้อยกว่าจำนวนห้องที่มี ก็มักจะอยากเชื่อมต่อห้องโดยการทุบผนังออก เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยภายในให้มากขึ้น และในทางกลับกันสำหรับคนที่คิดว่าพื้นที่ภายในบ้านนั้นโล่งกว้างต้องการกั้นห้องเพื่อการใช้งานที่เป็นสัดส่วนมากขึ้น ควรคำนึงถึงการต่อเติม, ดัดแปลงดังนี้ค่ะ
เจาะผนัง : ผนังที่สามารถทำการเจาะ หรือทุบออกได้ต้องเป็นผนังที่เกิดจากการก่อ , ผนังเบา หรือผนัง Precast ที่ไม่ใช่ผนังรับน้ำหนักและมีแบบตำแหน่งการเดินท่องานระบบชัดเจน เพื่อให้ทำการเจาะแล้วงานระบบไม่เสียหายค่ะ
ต่อเติมผนัง : หากต้องการต่อเติมผนังภายในบ้านสามารถต่อเติมได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของค่ะ ถ้าต้องการกั้นห้องชั่วคราว รื้อออกได้ไม่เสียหาย แนะนำเป็นผนังโครงเบาค่ะ แต่ถ้าต้องการกั้นห้องแบบถาวร ป้องกันเสียงได้ แนะนำให้กั้นเป็นผนังก่อ เป็นต้น โดยวัสดุที่นิยมใช้ในการต่อเติมผนังได้แก่การก่ออิฐฉาบปูนนั่นเอง
ผนังชนิดอื่นๆที่ไม่ใช่ก่ออิฐฉาบปูน
ผนังโครงเบา (Smart Board)
ผนังโครงเบาคือผนังที่มีโครงคร่าวติดกับแผ่นผนัง โครงคร่าวมีทั้งเป็นไม้แต่ที่นิยมใช้กันนั้นจะเป็นโครงคร่าวโลหะ (กัลวาไนซ์ , เหล็กรูปพรรณ) วัสดุแผ่นหนังเองก็มีให้เลือกใช้มากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ , ไม้อัดซีเมนต์, แผ่นยิปซั่ม หรือแผ่นไม้อัด ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป
ผนังโครงสร้างเบานั้นสามารถซ่อมแซม รื้อถอนได้ง่ายเนื่องจากมีน้ำหนักที่เบา แผ่นที่รื้อออกมาแล้วนำกลับไปใช้ใหม่ได้ และใช้เวลาในการติดตั้งน้อยค่ะ แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถใช้กับพื้นที่ที่มีน้ำขังได้ จึงไม่ควรใช้กับภายนอกด้วย ผนังโครงเบาเหมาะกับคนที่ต้องการต่อเติมกั้นห้องภายในบ้าน โดยไม่ต้องเลอะเทอะกับการผสมปูนก่ออิฐ
ผนังกระจก (Curtain wall)
เป็นผนังที่ยึดกับโครงสร้างของอาคาร โดยจะมีกรอบโครงเหล็กหรืออลูมิเนียม มีทั้งแนวตั้งและแนวนอน โดยจะใช้กระจกที่มีความหนาอย่างน้อย 6 มิลลิเมตร ควรใช้เป็นกระจกเทมเปอร์ที่แตกเป็นเม็ดข้าวโพดไม่แหลมคม ,กระจกเทมเปอร์ลามิเนตที่มีฟิล์มช่วยยึดกระจกไม่ให้ร่วงหล่นลงมา หรือกระจกฮีทสเตรงเท่น (Heat Strengthened glass หรือ H/S) ที่มีความแข็งแรงมากกว่ากระจกธรรมดา 2 เท่า ทั้งนี้ควรได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้วยค่ะ เนื่องจากเป็นวัสดุที่เปราะบางและอาจเกิดอันตรายได้
ผนังกระจกจะมีความสามารถการกันเสียงน้อยกว่าผนังก่อ แผ่ความร้อนได้มากกว่า เนื่องจากมีคุณสมบัติโปร่งใส แต่การกั้นห้องด้วยผนังกระจกทำให้ห้องดูโปร่งโล่ง และมีแสงผ่านได้มาก เหมาะกับห้องที่ต้องการกั้นต่อเติมโดยไม่ให้ความรู้สึกคับแคบ ไม่เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัว, เสียงรบกวนมากนัก
ต้องของอนุญาตไหม ??
ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดว่าถ้าดัดแปลง-ต่อเติม อาคารจะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ที่บ้านของเราตั้งอยู่ค่ะ เช่น ถ้าอยู่กรุงเทพฯ ให้แจ้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดย ผ่านสำนักงานเขตกรุงเทพฯ ที่บ้านเราตั้งอยู่ หรือถ้าตั้งอยู่ที่ต่างจังหวัดก็ให้ขอ หรือแจ้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยเดินเรื่องผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั่นเองค่ะ
แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าดัดแปลง-ต่อเติม ?
กฎหมายได้กำหนดข้อยกเว้นกรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้างไว้ 5 กรณี ซึ่งหมายความว่าถ้านอกเหนือจากนี้จะต้องขออนุญาตค่ะ จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
- การ “เพิ่ม” หรือ “ลด” เนื้อที่ของพื้นชั้นใดชั้นหนึ่งรวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร และไม่มีการเพิ่มหรือลดจำนวนเสาหรือคาน หมายความว่า : ถ้าเพิ่ม-ลดพื้นที่มากกว่า 5 ตารางเมตร หรือมีการเพิ่มเสาหรือคาน จะต้องขออนุญาต
- การ “เพิ่ม” หรือ “ลด” เนื้อที่ของหลังคารวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร และไม่มีการเพิ่มหรือลดจำนวนเสาหรือคาน หมายความว่า : ถ้าเพิ่ม-ลดพื้นที่หลังคา มากกว่า 5 ตารางเมตร หรือมีการเพิ่มเสาหรือคาน จะต้องขออนุญาต
- การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคาร ด้วยการใช้วัสดุ ขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับของเดิมหมายความว่า : ถ้าเราเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคาร ด้วยวัสดุ คนละชนิดกับของเดิมจะต้องขออนุญาตค่ะ
- การเปลี่ยนส่วนใดๆ ภายในบ้านที่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นโครงสร้างอาคาร ด้วยการใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิม หรือวัสดุชนิดอื่นที่ไม่ได้เพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมเกิน 10% ของน้ำหนักเดิม หมายความว่า : ถ้าเราเปลี่ยนแปลงส่วนของอาคาร(ที่ไม่ใช่โครงสร้าง) ด้วยวัสดุอะไรก็ตามที่เพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างเกิน 10 % ต้องขออนุญาต
-การเปลี่ยน ต่อเติม เพิ่ม ลด เนื้อที่ส่วนใดๆ ก็ตามในบ้านที่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นโครงสร้างอาคาร และไม่เพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างเกิน 10% ของโครงสร้างอาคารเดิม หมายความว่า : ถ้าเรามีการ ต่อเติม เพิ่ม ลด ส่วนของอาคาร(ที่ไม่ใช่โครงสร้าง) ด้วยวัสดุอะไรก็ตามที่เพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างเกิน 10 % ต้องขออนุญาต
สัญญาก่อสร้างต้องทำอย่างไร ??
ในการว่าจ้างทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการก่อสร้างต่อเติม เจ้าของบ้าน (ผู้ว่าจ้าง) ควรร่างสัญญาด้วยตัวเองนะคะ บางคนคิดว่าไม่จำเป็นถ้าเป็นผู้รับเหมาที่รู้จักกันอยู่แล้ว แค่สัญญาตามตกลงปากเปล่าก็พอ แต่ถึงอย่างนั้นก็แนะนำว่ามีไว้ดีกว่าค่ะ ซึ่งการทำสัญญาว่าจ้างนั้นจะประกอบด้วยเอกสาร 3 อย่าง ดังนี้
สัญญาว่าจ้าง
- สัญญาควรระบุว่าผู้รับจ้างเป็นใคร ควรมีเอกสารของบริษัทหรือสำเนาบัตรประชาชนประกอบ เพื่อระบุตัวตนให้ชัดเจน
- ผู้ว่าจ้างมีจุดประสงค์อย่างไร หมายความว่าให้ทำอะไร ที่ไหน วงเงินเท่าไร รวมถึงระยะเวลาการก่อสร้างนานเท่าไร ซึ่งควรระบุเป็นวันที่ชัดเจน เป็นต้น
- กำหนดการจ่ายเงินเป็นงวดๆ และกำหนดค่าปรับถ้างานล่าช้ากว่ากำหนด โดยทั่วไปแล้วมักคิดหน่วยเป็นวันค่ะ รวมถึงควรระบุงานเพิ่ม-ลด และค่าใช้จ่ายต่างๆที่ผู้รับจ้า (ผู้รับเหมา) ต้องรับผิดชอบ