ต่อเติมบ้านอย่างไรดี ไม่ให้มีปัญหาตามมา
24 กุมภาพันธ์ 2565
ผู้ชม 77 ผู้ชม
ต่อเติมบ้านอย่างไรดี ? ไม่ให้มีปัญหาตามมา
หลายๆคนคงจะเคยได้ยินข่าวความเสียหายจากการต่อเติมบ้านกันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นบ้านทรุด , การแตกร้าว หรือ น้ำรั่วซึม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของการอยู่อาศัยเลยทีเดียวใช่มั้ยคะ สำหรับใครที่กำลังจะต่อเติมบ้านแล้วคิดว่าต่อเติมนิดๆหน่อยๆคงไม่เป็นอะไรมากนั้น วันนี้เรามีบทความเกี่ยวกับข้อควรระวังต่างๆในการต่อเติม รวมถึงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายและโครงสร้าง เพื่อให้บ้านของเราเมื่อต่อเติมไปแล้วนั้นไม่มีปัญหาบานปลายค่ะ
การต่อเติมบ้านนั้นถือเป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับตัวบ้าน เมื่อเราอยู่ไปซักระยะนึง เราอาจจะอยากปรับเปลี่ยนหรืออยากได้พื้นที่มากขึ้น รวมถึงการขยายครอบครัวด้วยนะคะ หลายๆคนก็ลองทำแบบงูๆปลาๆจ้างช่างมาต่อเติมเลย หรือบางครอบครัวก็ค่อยๆต่อเติมไปเรื่อยๆโดยไม่คำนึงถึงโครงสร้าง จากสิ่งที่เรากล่าวมา อาจจะทำให้มีปัญหาในการต่อเติมตามมาได้ค่ะ ก่อนที่จะทำการต่อเติม เรามาดูกันก่อนว่าโดยปกติแล้วเราสามารถต่อเติมบ้านตรงไหนได้บ้าง ถ้าแบ่งตามที่คนนิยมทำกันจะมีอยู่ 4 ส่วนด้วยกันคือ
ต่อเติมหน้าบ้าน เพื่อทำหลังคากันสาด, หลังคาที่จอดรถ
ต่อเติมข้างบ้าน เพื่อทำเป็นห้องอเนกประสงค์
ต่อเติมหลังบ้าน เพื่อทำเป็นครัวไทย
ต่อเติม ปรับปรุงพื้นที่ภายในบ้าน เช่น กั้นห้องเพิ่ม, ทุบผนังห้องออก
โดยการต่อเติมแต่ละแบบนั้นจะมีปัจจัยให้คำนึงหลากหลาย เราจำเป็นต้องทราบเกี่ยวกับโครงสร้างบ้านเดิมที่เราอยู่ก่อนค่ะ ว่าคืออะไรจะได้ทำการต่อเติมได้ถูกต้องและไม่มีผลกระทบกับโครงสร้าง สำหรับการต่อเติมภายนอกบ้านจะมีเรื่องของกฎหมายมาประกอบด้วย ซึ่งจะมีอะไรบ้างเราไปดูกันเลยค่ะ
ต่อเติมอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย
กฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญและไม่ควรจะมองข้ามในการต่อเติมบ้าน หากเราทำการต่อเติมไปแล้วผิดกฎหมายก็จะเดือดร้อนต้องมาทุบทิ้งกัน หรืออาจจะเกิดการร้องเรียนขึ้นทำให้เป็นปัญหาใหญ่ตามมา ทำให้เราเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับการต่อเติมบ้านนั้นหลักๆแล้วก็จะมีเรื่องระยะต่างๆรอบตัวบ้าน
ระยะห่างระหว่างอาคาร
การต่อเติมอาคารชั้นเดียว หรืออาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร เช่นการต่อเติมพื้นที่ครัวด้านหลังบ้าน , ต่อเติมห้องด้านข้างรวมถึงลานจอดรถนั้น จะมีข้อกำหนดเรื่องระยะห่างของผนังและที่ดินบ้านข้างเคียง ดังนี้
- ผนังที่มีช่องเปิด ( เช่น หน้าต่าง, ช่องลมระบายอากาศ, ช่องแสง หรือบล็อคแก้ว) ควรมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร
- ผนังทึบ (ไม่มีช่องแสง) ควรมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร
สำหรับหมู่บ้านจัดสรรโดยทั่วไปแล้ว เราสามารถเจรจากับเพื่อนบ้านด้านข้างฝั่งที่เราต่อเติม ถ้าเพื่อนบ้านยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร เราก็สามารถสร้างชิดแนวเขตที่ดินได้ค่ะ
ระยะชายคา, กันสาด
การต่อเติมชายคา (ที่พื้นที่ด้านบนไม่สามารถขึ้นไปใช้งานได้) จะต้องเว้นระยะจากชายคา จนถึงแนวเขตที่ดิน ไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เช่นเดียวกันกับการต่อเติมผนังทึบค่ะ
ระยะระเบียงชั้นบน
การต่อเติมระเบียงชั้นบน หรือหลังคาที่สามารถขึ้นไปใช้งานด้านบนได้ จะต้องเว้นระยะจากระเบียง จนถึงแนวเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร เช่นเดียวกับการต่อเติมผนังที่มีช่องเปิดค่ะ
ระยะห่างจากถนนสาธารณะ
สำหรับใครที่อยากจะต่อเติมบ้านออกมาทางด้านหน้าจะเป็นห้องอเนกประสงค์หรือห้องอื่นๆก็ดี จะต้องคำนึงถึงกฎหมายดังนี้ อาคารพักอาศัยที่สูงไม่เกิน 3 ชั้น หรือสูงไม่เกิน 10 เมตร และพื้นที่รวมไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร จะมีกฏหมายบังคับเกี่ยวกับแนวร่นอาคารจาก ทางสาธารณะ ดังนี้
- ถ้าถนนสาธารณะกว้างน้อยกว่า 6.00 เมตร ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลาง ถนนสาธารณะ อย่างน้อย 3.00 เมตร
- ถ้าถนนสาธารณะกว้างมากกว่าง 6.00 เมตร ริมแนวอาคารห่างจากถนนสาธารณะ
- อาคารสูงไม่เกิน 3 ชั้น, พื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร ร่นจากเขตถนนอย่างน้อย 0.50 เมตร
- อาคารสูงไม่เกิน 3 ชั้น, พื้นที่เกิน 300 ตารางเมตร ร่นจากเขตถนนอย่างน้อย 1.00 เมตร
ทำความรู้จักโครงสร้างภายนอกบ้าน
การต่อเติมพื้นที่ด้านนอกบ้านส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่เราควรคำนึงถึงก็คือโครงสร้างพื้นและเสาเข็มค่ะ โดยปกติแล้วบ้านจัดสรรมักจะทำการเทพื้นบริเวณที่จอดรถและลานซักล้างด้านหลังบ้านมาให้ ส่วนใหญ่เป็นการเทคอนกรีตเสริมเหล็กแบบบนดิน (Slab On Ground) หรือ บนคาน (Slab on Beam) ที่ลงเสาเข็มมาให้ด้วย ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีข้อดี–ข้อเสียแตกต่างกันไป
พื้นคอนกรีตวางบนดิน (Slab On Ground)
Slab On Ground เป็นพื้นคอนกรีตหล่อบนพื้นดินหรือทรายบดอัด ไม่มีคานรองรับ มักใช้สำหรับพื้นชั้นล่าง ส่วนใหญ่มักใช้ทำพื้นของที่จอดรถ การถ่ายน้ำหนักของพื้นประเภทนี้จะถ่ายลงสู่พื้นดินโดยตรงโดยกระกระจายแรง ดังนั้นการบดอัดดินหรือทรายให้แน่นเป็นสิ่งสำคัญมาก หากไม่ทำให้ดินแน่นก่อนคอนกรีตอาจแตกจากการทรุดตัวได้ พื้นคอนกรีตวางบนดินนี้ ต้องอยู่อย่างอิสระจากโครงสร้างส่วนอื่น ๆ เพราะมีอัตราการทรุดตัวตามดินที่สูงค่ะ หากจำเป็นต้องมีส่วนที่ติดกันควรจะแยกรอยต่อ โดยการคั่นด้วยแผ่นโฟม หรือออกแบบลดระดับพื้นบริเวณขอบพื้นโดยรอบ หรือจะวางหินกรวดตกแต่งอย่างที่บ้านจัดสรรนิยมทำให้เพื่อปกปิดรอยต่อก็ได้เช่นกันค่ะ
โดยโครงสร้างส่วนใหญ่ของลานจอดรถนั้นเป็นระบบคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) เป็นการเพิ่มความสามารถของคอนกรีตให้รับแรงได้มากขึ้นโดยใช้เหล็กเข้ามาช่วยนั่นเองค่ะ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กจะสามารถรับน้ำหนักได้ 200 – 400 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สำหรับลานจอดรถขนาดมาตรฐาน 1 คันนั้น จะมีขนาด 2.40 x 5.00 เมตร หรือประมาณ 12 ตารางเมตร รถเก๋ง 1 คัน จะมีน้ำหนักประมาณ 1,000 – 1,500 กิโลกรัม ต่อคัน , รถกระบะ 1 คัน น้ำหนักประมาณ 1,500 – 1,600 กิโลกรัม ต่อคัน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้พื้นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กวางบนดิน
พื้นคอนกรีตวางบนคาน (Slab On Beam)
เป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ถ่ายน้ำหนักลงสู่คานโดยตรง นิยมใช้ในบ้านและอาคารทั่วไป ลักษณะการถ่ายน้ำหนักของพื้นประเภทนี้มี 2 แบบนะคะ คือ
– พื้นทางเดียว (One Way Slab)
– พื้นสองทาง (Two Way Slab)
พื้นคอนกรีตวางบนคานอาจเป็นได้ทั้งพื้นคอนกรีตหล่อในที่หรือพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปก็ได้ค่ะ แต่สำหรับพื้นส่วนเปียกอย่างเช่น ห้องน้ำ พื้นระเบียงนอกบ้าน ซึ่งเสี่ยงต่อการรั่วซึม ควรใช้เป็นพื้นคอนกรีตหล่อในที่จะสามารถทนต่อความชื่นได้มากกว่าพื้นสำเร็จรูปค่ะ
โครงสร้างเสาเข็ม ( Pile )
ต่อมาสิ่งที่สำคัญสำหรับการต่อเติมบ้านก็คือเสาเข็ม โดยเสาเข็มเป็นโครงสร้างที่เสริมการรับน้ำหนักและป้องกันการทรุดตัว โดยมีหลักการคือช่วยเพิ่มแรงต้านน้ำหนักของตัวบ้านหรือพื้นที่ส่วนต่อเติม ไม่ให้ทรุดตัวลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบและความลึกของเสาเข็มด้วยค่ะ ถ้าเสาเข็มนั้นสั้นไม่ถึงชั้นดินแข็งจะมีเพียงแรงเสียดทานระหว่างพื้นผิวเสาเข็มกับดิน (Skin Friction) แต่ถ้าเสาเข็มนั้นลึกถึงชั้นดินแข็งก็จะมีแรงต้านที่ปลายเสาเข็ม (End Bearing) เพิ่มขึ้นค่ะ และอีกอย่างที่ควรคำนึงถึงนั่นก็คือความแข็งของชั้นดินในแต่ละพื้นที่ ถ้าบ้านใครมีที่ดินอยู่ใกล้กับน้ำ หรือดินพึ่งถมมาไม่นาน(ไม่เกิน 2 ปี) ดินจะไม่แน่นมากทำให้มีโอกาสทรุดตัวมากกว่า จึงจำเป็นต้องใช้เสาเข็มที่ลึกขึ้นค่ะ ดังนั้นเบื้องต้นเราจึงควรรู้ว่าบ้านของเราใช้เสาเข็มอะไร ถ้าเราซื้อบ้านจากโครงการแนะนำว่าให้ถามก่อนซื้อหรือตัดสินใจต่อเติม ถ้าเป็นบ้านที่สร้างเองก็ควรถามวิศวกรหรือผู้ออกแบบเอาไว้ เราจะได้มีข้อมูลสำหรับการต่อเติมในอนาคต
เสาเข็มเดิมของภายในบ้านทั่วไปที่นิยมใช้ แบ่งออกได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง (prestressed concrete pile)
เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงเป็นที่นิยมมากที่สุดในอาคารพักอาศัย เป็นเสาคอนกรีตที่ทำจากปูนซีเมนต์ชนิดแข็งตัวเร็วและโครงเหล็กภายในทำจากลวดเหล็กอัดแรงกำลังสูงค่ะ ใช้วิธีการตอกลงไปในดิน ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยากและราคาไม่แพง “แต่เวลาตอกจะเกิดแรงสั่นสะเทือน” แบ่งย่อยออกตามลักษณะรูปทรงหลากหลาย เช่น
เสาเข็มรูปตัวไอ (มักใช้เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักตัวบ้าน)
เสาเข็มสี่เหลี่ยมตัน
เสาเข็มหกเหลี่ยมหรือแปดเหลี่ยมชนิดกลวง
เสาเข็มรูปตัวที
เสาเข็มเจาะ (bored pile)
เสาเข็มเจาะนั้นต้องใช้เครื่องมือเจาะลงบนที่ดินบนพื้นที่ใช้งานเลย จากนั้นจึงใส่เหล็กและเทคอนกรีตลงไปเพื่อหล่อเป็นเสาเข็ม จะมีกรรมวิธีก่อสร้างที่ยุ่งยาก และใช้เวลามากกว่า เหมาะกับงานที่ต้องการรับน้ำหนักสูง “แต่จะไม่เกิดแรงสั่นสะเทือนเวลาติดตั้ง” และมีข้อจำกัดเรื่องขนาดกับความลึกน้อยกว่า รับน้ำหนักได้มากกว่า ส่วนราคานั้นจะแพงและมีขั้นตอนการติดตั้งยากกว่า
เสาเข็มเจาะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
เสาเข็มเจาะขนาดเล็ก( small diameter bored pile ) เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ในช่วง 35-60 เซนติเมตร ความลึกอยู่ในช่วงประมาณ 18-23 เมตร กรรมวิธีที่ใช้ในการเจาะมักจะเป็นแบบแห้ง ( dry process )โดยใช้เครื่องมือขุดเจาะธรรมดา วิธีการไม่ยุ่งยากซับซ้อน
เสาเข็มเจาะขนาดใหญ่( large diameter bored pile ) เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 60 เซนติเมตรขึ้นไป ความลึกอยู่ในช่วงประมาณ 25-65 เมตร กรรมวิธีที่ในการเจาะมักจะเป็นระบบเปียก ( wet process ) ซึ่งจะมีความยุ่งยาก และหน้างานเลอะเทอะมากกว่าค่ะ
เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยงอัดแรง (prestressed concrete spun pile)
โดยทั่วไปแล้วจะเรียกกันว่าเสาเข็มสปัน ผลิตโดยการใช้ กรรมวิธีปั่นคอนกรีตในแบบหล่อซึ่งหมุนด้วยความเร็วสูงทำให้เนื้อคอนกรีตมีความหนาแน่นสูงกว่าคอนกรีตที่หล่อโดยวิธีธรรมดา มีลักษณะเป็นเสากลม ตรงกลางกลวง ฝังโครงลวดเหล็กอัดแรง การตอกเสาชนิดนี้สามารถทำได้หลายแบบ ทั้งวิธีการตอกด้วยปั้นจั่นแบบธรรมดาและแบบกด เนื่องจากตรงกลางกลวงช่วยลดแรงสั่นสะเทือนเวลาตอกได้ค่ะ ช่วยให้ไม่สะเทือนกระทบต่อโครงสร้างเดิมเท่าเสาเข็มอัดแรงธรรมดา
หากเป็นการต่อเติมบ้านทั้งส่วนลานจอดรถเองหรือครัวด้านหลังบ้านนั้นแน่นอนว่าการใช้เสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็งจะทำให้โครงสร้างนั้นแข็งแรงกว่า แต่ในทางปฏิบัติจริงๆแล้วการใช้เสาเข็มลึกจะต้องมีพื้นที่และเครื่องมือที่ยุ่งยากมากกว่า เสียค่าใช้จ่ายแพงกว่า จึงต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละบ้านค่ะ โดยส่วนใหญ่แล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนต่อเติมมักใช้เข็มความยาวประมาณ 3 – 6 เมตร (แต่ชั้นดินแข็งของกรุงเทพฯจะอยู่ลึกประมาณ 17 – 23 เมตร) อาจจะมีการทรุดตัวได้ในอนาคตแต่ก็จะน้อยกว่าพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กวางบนดินแน่นอนค่ะ