การกัดเซาะชายฝั่งลักษณะการเกิดหินธรรมชาติ
03 มีนาคม 2565
ผู้ชม 143 ผู้ชม
การกัดเซาะชายฝั่ง
การกัดเซาะชายฝั่ง (อังกฤษ: coastal erosion) เกิดจากพลังของคลื่น ลม และกระแสน้ำขึ้นลง (tidal ranges) ที่ส่งผลกระทบต่อชายฝั่งทำให้มีการสึกกร่อนพังทลายไป และเป็นต้นเหตุของการเกิดรูปร่างลักษณะของชายฝั่งทะเลที่แตกต่างกันไปตามสถานที่ต่างๆชายฝั่งที่พบลักษณะการกัดเซาะส่วนมากมักเป็นบริเวณชายฝั่งทะเลน้ำลึก ที่ลักษณะของชายฝั่งมีความลาดชันลงสู่ท้องทะเล ทำให้คลื่นลม และกระแสน้ำสามารถกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างรุนแรง
ลักษณะภูมิประเทศ
การกัดเซาะจากคลื่น ลม สามารถทำให้ชายฝั่งทะเลเปลี่ยนแปลงเกิดเป็นภูมิประเทศลักษณะต่าง ๆ (erosional landforms) ดังนี้
หน้าผาชันริมทะเล (Sea Cliff)
พบในบริเวณที่ชายฝั่งมีภูเขาหรือเทือกเขาอยู่ติดกับทะเล หรือชายฝั่ง โดยมีการวางตัวของชั้นหินในแนวเอียงเทหรือแนวตั้งฉากกับทะเล คลื่นจะกัดเซาะชายฝั่งทำให้เกิดภูมิประเทศเหมือนหน้าผาริมทะเลขึ้น สามารถพบได้บริเวณฝั่งทะเลยุบตัว สำหรับประเทศไทยจะอยู่บริเวณชายฝั่งด้านทะเลอันดามัน
เว้าทะเล (Sea Notch)
เกิดจากการกัดเซาะของคลื่นและการกัดกร่อนละลายของหินบริเวณฐานของหน้าผาชันที่ติดกับทะเลหรือชายฝั่ง จะเห็นเป็นรอยเว้าในแนวระดับซึ่งจะขนานไปกับระดับน้ำทะเลในช่วงเวลาและยุคต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่จะใช้ในการวิเคราะห์ระดับน้ำทะเลในอดีตเทียบกับระดับน้ำทะเลในปัจจุบันได้
โพรงหินชายฝั่ง (Grotto) หรือ ถ้ำทะเล (Sea Cave)
จะเป็นถ้ำที่พบตามบริเวณชายฝั่งทะเล หรือชายฝั่งของเกาะต่างๆ โดยการเกิดถ้ำชนิดนี้จะเกี่ยวข้องกับการกัดเซาะของคลื่นที่หน้าผาชายฝั่งเป็นเวลานานติดต่อกัน จนทำเกิดเป็นช่องหรือโพรงเข้าไป ในช่วงแรกอาจเป็นโพรงขนาดเล็ก (grotto) แต่เมื่อได้รับอิทธิพลจากน้ำฝนและน้ำใต้ดินมาช่วยก็กลายเป็นโพรงขนาดใหญ่ หรือเป็นถ้ำ (cave) ที่เราพบในปัจจุบัน
ถ้ำลอด (Sea Arch)
เป็นลักษณะทางธรณีสัณฐานที่มีความสำคัญมากเนื่องจากมีความสวยงาม จึงเป็นที่นิยมของคนในการเข้าไปท่องเที่ยวเนื่องจากมีลักษณะพิเศษคือจะเห็นเป็นโพรงหรือถ้ำที่เปิดทะลุออกสู่ทะเลทั้งสองด้าน โดยถ้ำลอดที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย คือ ถ้ำลอดที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา และเขาช่องกระจก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สะพานหินธรรมชาติ (Natural Bridge)
เกิดจากการกระทำของคลื่นและลมที่กัดเซาะแนวหินบริเวณที่ยืนเข้าไปในทะเล โดยในระยะแรกจะเกิดโพรงหินชายฝั่งขึ้นแต่เนื่องจากการกัดเซาะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองด้าน จนในที่สุดโพรงก็ทะลุถึงกัน ซึ่งหินส่วนที่เหลืออยู่เหนือโพรงที่สามรถวางตัวอยู่ได้โดยไม่ถล่มลงมาจะทำให้มีลักษณะคล้ายสะพานเกิดขึ้น ลักษณะสะพานหินที่สามารถพบได้ในประเทศไทยจะตั้งอยู่ที่เกาะไข่ ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล
เกาะหินโด่ง (Stack)
หินหรือโขดหินแนวตั้งที่แยกโดดออกมาห่างจากแผ่นดินหรือเกาะที่อยู่ใกล้เคียง จะเกิดได้จากการที่หน้าผาหินยื่นเกินออกไปในทะเล คลื่นและลมกัดเซาะบริเวณส่วนเชื่อมต่อซึ่งไม่แข็งแรงเป็นเวลานาน จนในที่สุดส่วนที่เชื่อมต่อเกิดการพังทลายจมลงไปในน้ำ เหลือเพียงโขดหินที่ตั้งโดดเด่นแยกออกมาต่างหาก โดยในอดีตส่วนที่เคยเชื่อมต่อนั้นอาจเป็นแนวหิน สะพานหินธรรมชาติ หรือถ้ำลอดขนาดใหญ่ก็ได้ แต่เพราะน้ำหนักของหินส่วนบนที่เชื่อมต่ออยู่มีมากเกินกว่าจะสามารถคงอยู่ได้จึงเกิดความไม่สมดุล ในตอนท้ายจึงเกิดการหักพังหรือยุบถล่มลงจมอยู่ใต้น้ำ เราจะพบลักษณะเกาะหินโด่งในประเทศไทยได้ที่เขาตาปูในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา
ซุ้มหินชายฝั่ง
ที่ตั้ง
ซุ้มหินชายฝั่ง บ้านฝั่งแดง ตั้งอยู่ในเขตของตำบลหาดทรายรีใกล้กับเขตตำบลปากน้ำ เข้าถึงได้โดยทางรถยนต์ ไปตามถนนสายเพชรเกษม (สาย 4) ไปแยกเข้าตัวเมืองจังหวัดชุมพรโดยสาย 237 เดินทางไปประมาณ 8 กิโลเมตร จะถึงจังหวัดชุมพร แล้วต่อไปตามทางหลวงหมายเลข 4119 ไปทางศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์และทางบ้านหาดทรายรี เป็นระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ถนนจะผ่านชายทะเลบริเวณหาดผาแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ซุ้มหินชายฝั่ง บ้านฝั่งแดง หากไปตามถนนสายเดิมต่อไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดชุมพร
ลักษณะของแหล่ง
ซุ้มหินชายฝั่ง (Sea arch) มีลักษณะเป็นโขดหินทรายขนาดใหญ่ที่ยื่นจากหน้าผาริมชายหาดไปทะเล และแบ่งชายหาดออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ยื่นออกไปขวางกั้นหาดทรายนั้น มีลักษณะเป็นซุ้มหินขนาดใหญ่ มีสีแดงสะดุดตา เช่นเดียวกับหน้าผาหิน จึงได้ชื่อว่า หาดผาแดง ส่วนล่างของโขดหินเป็น ถ้ำทะเล (Sea cave) ที่เห็นชัดมี 2 ถ้ำ โดยถ้ำที่มีขนาดโตกว่าจะอยู่ไปทางทะเล ส่วนปลายสุดมีโขดหินสีแดงขนาดใหญ่ตั้งอยู่สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นซุ้มหินเช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบันส่วนที่เป็นหลังคาผุพังหายไปหมด จึงเหลือเพียงส่วนที่เป็นเสาค้ำยันทิ้งเอาไว้ ในทางธรณีวิทยาเรียกว่า เสาหินโด่ง (Stack) ซ้ายบนและซ้ายล่างประกอบ
ธรณีวิทยา
ซุ้มหินชายฝั่งเป็นส่วนหนึ่งของหาดผาแดง ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหน้าผาชันริมชายหาดจัดอยู่ในหมวดหินสามจอมอายุยุคครีเทเชียส เนื่องจากไม่พบซากดึกดำบรรพ์ อายุของหินจึงได้มาจากการเทียบเคียงการลำดับชั้นหินกับบริเวณอื่น ชั้นหินประกอบด้วยหินทรายที่มีหินกรวดมนแทรกสลับเป็นช่วงๆ มีสีน้ำตาลแดง ชั้นหินวางตัวมีแนวระนาบเอียงเทเล็กน้อยด้วยมุมประมาณ 10 องศาไปทางทิศเหนือ (NNE) หินกรวดมนจะพบมากทางด้านใต้ของชายหาด ซึ่งเป็นบริเวณทางที่เดินลงชายหาด ก้อนกรวดในหินกรวดมน ส่วนใหญ่เป็นพวกหินทราย ที่มีลักษณะมนไม่มีเหลี่ยมคม บางก้อนมีขนาดใหญ่ถึง 50 เซนติเมตร เมื่อเข้าไปสังเกตดูใกล้ๆ จะพบว่าก้อนกรวดในชั้นหินชั้นล่างจะมีขนาดโตกว่าและมีขนาดโดยเฉลี่ยค่อยๆ เล็กลงๆ ขึ้นไปในชั้นหินส่วนบน และเปลี่ยนไปเป็นหินทรายในชั้นบน ลักษณะโครงสร้างเช่นนี้ทางธรณีวิทยาเรียกว่า ลำดับการเรียงตัวจากตะกอนหยาบสู่ตะกอนละเอียด (Fining upward sequence) ซึ่งจะพบได้หลายช่วง แสดงว่ามีตะกอนถูกพัดพามาสะสมตัวหลายครั้งด้วยกัน เมื่อเดินเลาะตามชายหาดไปทางทิศเหนือ หรือไปหาซุ้มหินชายฝั่ง เนื้อหินจะเปลี่ยนไปเป็นหินทราย หรือเม็ดตะกอนมีขนาดละเอียดขึ้นไปทางทิศเหนือ หินทรายแสดงลักษณะเป็นชั้นได้ดี มีชั้นเฉียงระดับบ้าง โดยแนวชั้นหินแต่ละชั้นจะเกิดสะสมในเวลาเดียวกัน จากหลักฐานต่าง ๆ สรุปได้ว่า ในยุคครีเทเชียสหรือประมาณ 100 ล้านปีที่ผ่านมา พื้นที่ทั่วภาคใต้มีสภาพเป็นแผ่นดิน บางส่วนมีภูมิประเทศเป็นภูเขา บางส่วนเป็นเนินและที่ราบลุ่ม ส่วนของภูเขาสูงจะอยู่ทางด้านใต้ เมื่อเกิดรอยเลื่อน (Fault) ตัดผ่าน ทำให้พื้นที่ด้านใต้ของหาดผาแดงเป็นหน้าผาเชิงเขา มีผลทำให้เกิดการพัดพาสะสมตัวของตะกอนแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด (Alluvial fan) โดยตะกอนจะไหลจากภูเขาด้านทิศใต้ไปสู่ที่ราบทางทิศเหนือ ตะกอนที่มีขนาดโตถูกพัดพาไปได้ลำบากจะสะสมตัวใกล้ต้นน้ำ ส่วนตะกอนเม็ดละเอียดกว่าหรือเม็ดทรายจะถูกพัดพาไปได้ไกลกว่า
การเกิดซุ้มหินชายฝั่ง
ซุ้มหิน (Arch) เป็นลักษณะธรณีสันฐานที่หลงเหลืออยู่หลังจากมีการกัดเซาะผุพังในหิน เกิดได้ทั้งบนบก ชายฝั่งและในทะเล ส่วนมากมีรูปร่างเป็นซุ้มโค้งมีช่องว่างตรงกลาง ถ้าช่องว่างตรงกลางกว้างจนส่วนบนของซุ้มทอดตัวยาว และมีทางน้ำไหลผ่านด้านล่างหรือไม่มีก็ได้ เรียกว่าสะพานหินธรรมชาติ (Natural bridge) ถ้าเป็นช่องเปิดเล็กๆ เหนือพื้นดินขึ้นไปเรียกว่า ซุ้มหน้าต่าง (Window)
ซุ้มหินชายฝั่ง เป็นซุ้มหินที่พบเห็นได้มากที่สุดในประเทศไทย เกิดจากการกัดเซาะของคลื่นและลม โดยเฉพาะการขัดสีของทรายที่ถูกพัดพามาด้วย ส่วนมากเกิดขึ้นบริเวณหัวแหลมของชายฝั่งที่เป็นหน้าผาที่ยื่นออกไปในทะเล และพบในหินชั้น (Sedimentary rock) มากกว่าหินชนิดอื่น โดยเฉพาะในหินชั้นมหายุคมีโซโซอิก ที่มีหินหลายชนิด เกิดสลับชั้นกัน บริเวณที่ถูกกัดเซาะง่าย ได้แก่บริเวณที่มีรอยแตก รอยเลื่อนและรอยคดโค้งในชั้นหินมาก เมื่อคลื่นกัดเซาะแหลมหินทั้งสองด้าน ก่อให้เกิดโพรงในชั้นหินทั้งสองด้านและเมื่อโพรงถูกกัดเซาะให้มาบรรจบกัน จึงเกิดเป็นโพรงทะลุขึ้นดังสภาพที่เห็นในปัจจุบัน โพรงจะถูกกัดเซาะทำให้มีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะเช่นนี้ในอนาคต เพดานถ้ำหรือซุ้มหลังคาจะพังลงไป จะทำให้เหลือเป็นเสาหินโด่ง หรือเกาะหินโด่งได้ และในที่สุด เสาหินโด่งก็จะถูกกัดเซาะ สึกกร่อนและผุพังหายไปด้วย