ต้นไม้จัดสวน บริการจัดจำหน่าย ไม้ขุดล้อม ไม้มงคล ไม้แปลกหายาก รับจัดหา ย้าย ปลูก ไม้ล้อม ไม้สวยงาม ต้นไม้มงคล
ต้นไม้มงคลปลูกหน้าบ้าน
ต้นไม้ใหญ่ปลูกในบ้าน
ไม้ขุดล้อม
รับจัดหาไม้มงคล
รับจัดหาต้นไม้มงคล
ต้นไม้มงคลรวยทรัพย์
ติดต่อสอบถาม
เทคนิคในการขุดล้อม ย้ายปลูกต้นไม้
1.การตีตุ้มหรือตุ้มดิน คือ การขุดดินและตัดรากโดยรอบต้นไม้ ในระยะห่างจากโคนต้นตามขนาดเหมาะสมแก่ความจำเป็นในการเจริญเติบโต และความสามรถในการอุ้มดินของระบบราก ตุ้มดินโดยทั่วๆไปมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับเส้นรอบวงของโคนต้นหรือโตกว่าเล็กน้อย รูปร่างของตุ้มดินอาจเป็นทรงกลมแบบผลส้มโอ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือรูปไข่ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมหรือข้อจำกัดในการจัดการ ทั้งสถานที่ขุด การขนส่ง ชนิดของต้นไม้และสถานที่ปลูก ตลอดจนความสามารถในการอุ้มดินของรากไม้ชนิดนั้นๆ ตุ้มดินซึ่งมีขนาดใหญ่จะมีผลดีต่อการฟื้นตัวของต้นไม้ และการขุดล้อมจะเป็นผลสำเร็จมากกว่า แต่จะมีน้ำหนักมากและเสี่ยงต่อการที่จะแตกได้ง่าย ถ้าใช้กับต้นไม้ที่มีรากฝอยน้อย ตุ้มเล็กจะมีน้ำหนักเบากว่า และสะดวกในการขนส่ง แต่จะมีผลเสียต่อการฟื้นตัว ทำให้การเจริญเติบโตช้า มีความเสี่ยงต่อการตายสูงกว่าตุ้มใหญ่
2.การตัดแต่งทรงพุ่ม ในการขุดล้อม ย้ายปลูก จะต้องลดการคายน้ำของต้นไม้ให้เหลือน้อยที่สุด เพราะขณะที่ขุดและตัดราก ต้นไม้มีความสามารถในการหาน้ำและอาหารน้อย การตัดกิ่งให้สั้นเพื่อลดจำนวนใบและตัดบางกิ่งทิ้งไป เป็นการช่วยลดการคายน้ำ หลักเกณฑ์ในการเลือกกิ่งที่จำต้องตัดทิ้ง มีดังต่อไปนี้
- กิ่งกระโดง เป็นกิ่งที่เจริญจากทรงพุ่ม พุ่มตรงชะลูด สูงกว่ากิ่งอื่นในทรงพุ่ม ถือว่าเป็นกิ่งผิดปกติ ควรตัดทิ้งหรือตัดให้สั้นเสมอทรงพุ่ม
- กิ่งซ้อนกิ่ง หมายถึงกิ่งของต้นไม้ที่มีระดับสูงต่ำใกล้เคียงกันอยู่ในระนาบ(ทิศทาง)เดียวกัน ตั้งแต่ 2 กิ่งขึ้นไป ตัดออกให้เหลือเฉพาะกิ่งที่แข็งแรงกว่าเพียงกิ่งเดียว
- กิ่งกระจุก คือ กิ่งหลายกิ่งที่แตกออกจากลำต้นที่ตำแหน่งเดียวกันและพุ่งออกไปในทิศทางเดียวกัน ในการตัดแต่งทรงพุ่ม ควรเหลือไว้เพียง 1-2 กิ่ง
- กิ่งพิการ เป็นกิ่งที่มีบาดแผลฉีกขาด กิ่งเป็นโรค กิ่งผุกร่อน มีแมลงรบกวนกิ่งที่มีกาฝากเกาะกิน กิ่งหักห้อย ต้องตัดทิ้ง
- กิ่งผิดทิศทาง หมายถึงกิ่งที่มีการเจริญเติบโต พุ่งเข้าในทรงพุ่มหรืออกไปในทิศทางที่ตรงข้าม ถือว่าเป็นกิ่งที่ต้องตัดทิ้ง
- กิ่งขนาดเล็กและกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ในทรงพุ่ม ควรตัดแต่งออกให้หมดเพื่อเป็นการลดการคายน้ำ เนื่องจากกิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเจริญเติบโตอีกต่อไปได้ มักจะทั้งกิ่งในอนาคต
วิธีการตัดแต่งกิ่ง มี 2 วิธี คือ
- การตัดเพื่อแต่งทรงพุ่ม เป็นการตัดกิ่งให้สั้นลง ต้องคำนึงถึงการแตกกิ่งในอนาคตด้วย ปกติกิ่งใหม่จะแตกออกมาตรงตาบริเวณรอยตัด จึงต้องเลือกเว้นตาบนสุด ให้มีทิศทางการแตกกิ่งตามที่ต้องการ
- การตัดทิ้ง จะต้องตัดให้แผลชิดลำต้นและเรียบ อาจใช้ยาป้องกันเชื้อรา สีน้ำมัน หรือ ปูนขาวทาปิดรอยแผล
3.การขุดร่องก้างปลา หมายถึงการขุดร่องระบายน้ำ เพื่อแก้ไขการระบายน้ำในบริเวณที่ปลูกต้นไม้ ที่ดินขาดคุณสมบัติในการซึมน้ำหรือน้ำซึมได้น้อย เช่น ดินเหนียว ดินลูกรังซึ่งมีดินเหนียวผสมมาก และดินที่มีการบดอัดแน่นในขณะถมปรับดิน
การขุดร่องก้างปลา ปกติเป็นการขุดจากหลุมปลูกต้นไม้ ความลึกของร่องเท่ากับความลึกของหลุมปลูกต้นไม้ ส่วนความกว้างไม่จำกัด โดยทั่วไปกว้างประมาณ 0.30-1.00 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่และจำนวนต้นไม้ที่ปลูก ภายในร่องอาจจะใส่ท่อเจาะรูพรุน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว-10 นิ้ว ต่อยาวไปจนถึงจุดทิ้งน้ำ แล้วกลบด้วยทรายหยาบจนเต็มร่อง ร่องก้างปลาจะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำขังท่วมโคนต้นไม้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ต้นไม้ตายจากรากเน่า
4.การค้ำยัน ต้นไม้ที่ขุดล้อม ย้ายปลูก ยังไม่มีรากยาวพอจะยึดลำต้นและทรงพุ่ม เมื่อมีลมแรงอาจเป็นต้นเหตุให้ไม้โค่นล้มได้ จึงต้องอาศัยการค้ำยับ การค้ำยันมีหลายแบบ แต่ในที่นี้ขอแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
4.1 การค้ำยันแบบใช้ขาค้ำยัน เป็นวิธีการนำไม้ เหล็กหรือวัสดุอื่นๆมาค้ำยันลำต้นกับพื้นโดยรอบ ขาค้ำยันอาจมีตั้งแต่ 1 อันขึ้นไปถึงหลายๆอัน ที่นิยมใช้กันมาก คือ 3-4 อัน โดยจะทำมุม 90-120 องศาซึ่งกันและกัน ความยาวของขาค้ำยัน ขึ้นอยู่กับความสูงของต้นไม้และความรุนแรงของลมในบริเวณนั้น แต่ไม่ควรยาวน้อยกว่า 1/5 ของความสูงของต้นไม้ที่ปลูก
วิธีการค้ำยัน อาจใช้ตะปูขนาด 3-5 นิ้ว ตอกยึดขาค้ำกับต้นไม้โดยตรง หรือตีไม้ขวางยึด 2-3 ชั้น ยึดขาค้ำติดกับลำต้นของต้นไม้ให้แน่นหนายิ่งขึ้น และในพื้นที่ที่ลมแรง บริเวณที่ต้นไม้สัมผัสกับไม้ค้ำยันอาจใช้กระสอบป่าน ยางรถยนต์ ผ้าหรือวัสดุอื่นที่มีความยืดหยุ่นรองรับ ป้องกันเปลือกต้นไม้ถูกเสียดสีจากโครงยึดแต่ละชั้นหรือบริเวณที่สัมผัสกับไม้ค้ำยัน
4.2 การค้ำยันแบบใช้แรงดึง เทคนิคการยึดตรึงต้นไม้แบบนี้มีข้อดีกว่าการใช้เสาค้ำยัน คือ สามารถใช้กับต้นไม้ที่มีความสูงมากๆเกิน 10 เมตร และการยึดโยงด้วยวิธีนี้จะใช้พื้นที่ไม่มากนักจึงไม่กีดขวาง ไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ ไม่บดบังภูมิทัศน์ และหมดกังวลในเรื่องการผุกร่อนของไม้ค้ำยัน ข้อที่ต้องจัดการเป็นพิเศษคือ ตำแหน่งที่จะยึดตรึงบนต้นไม้ จะต้องมีการป้องกันการบีบรัดขิงเชือกหรือลวดสลิง โดยการใช้กระสอบป่าน ยางรถยนต์หรือวัสดุที่สามรถยืดหยุ่นได้ รองรับบริเวณที่จะทำการยึดตรึงนั้น ใช้ไม้เนื้ออ่อนขนาด ? x 3 นิ้ว ความยาว 0.05 ? 0.75 เมตร ตีทับวัสดุป้องกันเปลือกอีกชั้นหนึ่งโดยรอบ รัดด้วยเหล็กปลอกซึ่งทำด้วยเหล็กแบน ขนาดความหนา 1 ? - 2 หุน ครึ่งวงกลม 2 ชิ้นประกอบรอบต้นไม้ รัดให้แน่นด้วยน๊อตขนาด 3-4 หุน ข้างละ 1-2 ตัว ด้านข้างหรือด้านบนของเหล็กปลอกจัดทำรูสำหรับร้อยเชือกหรือสลิง 3-4 เส้นโดยรอบ หรืออาจจะใช้เชือกที่ยึดตรึงทำเป็นบ่วงรัดรอบต้นไม้โดยตรงก็ได้ สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ จะต้องหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ ไม่ให้เหล็กปลอกหรือบ่วงรัดต้นไม้แน่นมากเกินไป เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตขึ้น หมั่นคลายน๊อตออกบ้าง ตามความจำเป็น
ในกรณีที่ปลูกเป็นที่โล่ง ลมแรง เช่น ชายทะเล สนามกอล์ฟ การยึดตรึงจะต้องหนาแน่นมั่นคง หากไม่มีอาคารหรือต้นไม้ใกล้เคียงให้ยึดตรึง จำเป็นจะต้องตอกเสาเข็ม คสล. หรือแท่งปูนที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ ฝังไว้ในดินเป็นสมอบกสำหรับการยึดโยงต้นไม้ แทนการยึดตรึงกับต้นไม้หรืออาคารก็ได้
5.การทำบังไพร การปลูกต้นไม้ใหญ่บางชนิดในที่โล่งแจ้ง แดดกล้า ลมแรง จะต้องทำโครงหลังคาเพื่อพรางแสงด้านบนและด้านข้าง ให้เหลือแสง 50-70 % ไว้เป็นเวลา 3-4 เดือน หรือจนกว่าต้นไม้นั้นจะฟื้นตัวแตกใบและมีใบแก่เต็มต้น โครงสร้างสำหรับการทำบังไพรหากทำให้แน่นหนา มั่นคง ยังสามารถอำนวยประโยชน์ต่อการให้น้ำ การช่วยค้ำยันต้นไม้และการบำรุงรักษา สามรถใช้ปีนขึ้นไปพ่นยา ตัดแต่งกิ่ง ฯลฯ
6.การให้ปุ๋ย ในระยะแรกของการแตกใบอ่อน ต้องงดการให้ปุยเคมีโดยเด็ดขาดเนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อต้นไม้ ควรฉีดพ่นเฉพาะฮอร์โมนเร่งการแตกรากและใบ พร้อมๆกับยาป้องกันเชื้อราและยาฆ่าแมลงเท่านั้น จะให้ปุ๋ยเคมีได้เมื่อต้นไม้ที่ปลูกมีใบแก่เต็มต้น คือ ช่วงเวลา 2-3 เดือน หลังการปลูกไปแล้ว
7.การควบคุมความชื้น ต้นไม้บางชนิดเมื่อขุดล้อมแล้วมักจะตายเพราะการคายน้ำมาก อาจจะตายทั้งต้นหรือตายเฉพาะส่วนยอด เช่น ข่อย มะเดื่อ สาเก ตาล หมากแดง ฯลฯ การป้องกัน นอกจากตัดแต่งกิ่งและลดจำนวนใบให้เหลือน้อยลงเพื่อลดการคายน้ำแล้ว ยังจำเป็นต้องควบคุมความชื้นอีกอย่างหนึ่งด้วย
8.การล้อมเตือน เป็นวิธีการขุดล้อมต้นไม้เพื่อให้โอกาสต้นไม้ได้รู้ตัวก่อนการขุดล้อมจริง การขุดล้อมเตือนเป็นการตีตุ้ม ตัดรากเล็กๆออก คงเหลือรากขนาดใหญ่เอาไว้ 3-4 ราก รอบต้น ขุดเสร็จจะต้องห่อตุ้มดินอัดขุยมะพร้าวและมัดตรึงตุ้มให้แน่น โดยยังคงเว้นรากใหญ่ไว้นอกตุ้มดิน
การล้อมเตือนต้นไม้ใช้เวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ จนถึงหลายเดือน หรืออาจเป็นปีขึ้นอยู่กับชนิดต้นไม้และความพร้อมในการย้ายปลูก ส่วนมากต้นไม้ที่มีการล้อมเตือนจะทิ้งใบหมดหรือเกือบหมดต้น เมื่อถึงเวลายกหรือย้ายไปจากหลุมเดิม จึงสะดวกกว่ามีใบติดต้นไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่ล้อมเตือนทิ้งไว้ในหลุมนั้นต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและทิ้งร่องดินรอบตุ้มไว้ไม่ต้องกลบ
เมื่อต้องการย้ายต้นไม้ไปจากที่เดิม ก็เพียงแต่ตัดรากแก้ว รากด้านข้างที่เว้นไว้โดยรอบออกให้หมด ห่อหุ้มมัดแต่งตุ้มดินที่เหลือและตุ้มดินตอนล่างสุดให้แน่นหนาเรียบร้อย ก็ถือว่าเสร็จสมบูรณ์
การล้อมเตือนถ้าใช้เวลาเกิน 1 เดือน ควรค้ำยันเพื่อป้องกันไม้ล้ม วิธีนี้เหมาะกับดินค่อยข้างเหนียวหรือดินร่วนเหนียว ไม่เหมาะกับดินร่วนทราย ต้นไม้ชนิดที่มีรากฝอยบริเวณใกล้ๆลำต้นมาก เหมาะที่จะใช้วิธีล้อมเตือน เช่น ไทร ปาล์ม มะเกลือ หว้า ต้นไม้สกุลอินทนิล สกุลประดู่ วงศ์ไม้แค มะกอกป่า
ข้อควรระวัง ในการล้อมเตือนเมื่อต้นไม้ทิ้งใบ ต้องรีบย้ายในทันที ห้ามย้ายต้นไม้ขณะผลิใบอ่อน ถ้าไม่สามารถย้ายขณะทิ้งใบได้ ต้องรอให้ใบอ่อนที่ผลิออกมาภายหลังแก่เสียเต็มที่ก่อน
9. การขุดล้อมย้ายปลูกต้นไม้โตช้า มีต้นไม้โตช้าที่มีคุณค่า รูปทรงงดงาม และหายากหลายชนิดที่น่าจะทำการย้ายปลูก เพื่อการอนุรักษ์ เช่น กุ่มบก แจงใบเล็ก แจงใบใหญ่ ตะโกนา ตะโกหนู จัน จันทร์กระพ้อ หมากแดง ต้นไม้เหล่านี้โตช้า เพราะลักษณะประจำตัวของต้นไม้นั้นทำให้หาอาหารได้น้อย คือ ระบบรากของต้นไม้เหล่านี้รากฝอยและรากขนอ่อนน้อยมาก โดยเฉพาะใกล้ๆโคนต้น ในการขุดล้อมต้นไม้โตช้าจึงต้องใช้วิธีการ ?ล้อมเตือน? เพื่อให้แตกรากใกล้ๆโคนต้นหรือแตกรากใหม่ในขอบเขตของตุ้มดิน
วิธีการขุดต้นไม้โตช้า มีลำดับขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 ตัดแต่งกิ่งของต้นไม้ที่จะขุดให้สั้นและโปร่งขึ้น
ขั้นตอนที่ 2 แบ่งพื้นที่ที่จะขุดรอบโคนต้น(ตุ้มดิน) เป็น 4-6 ส่วน ซึ่งต้องพิจารณาตามอายุและขนาดของต้นไม้เป็นลำดับ ถ้าต้นโตอายุมาก จะต้องแบ่งพื้นที่รอบโคนต้นให้เป็นหลายส่วนมากขึ้น
ขั้นตอนที่ 3 ทำการขุดล้อมเตือนโดยขุด 1 ส่วน เว้น 1 ส่วน หรือ ขุด 1 ส่วน เว้น 2 ส่วน ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนที่ 2
ขั้นตอนที่ 4 ทายาป้องกันเชื้อราและฮอร์โมนเร่งรากบริเวณปลายรากที่ตัด ทาทับด้วยสีน้ำมันหรือปูนขาว
ขั้นตอนที่ 5 วางเรียงแผ่นไม้ สังกะสี แผ่นปูนหรือวัสดุอื่นๆที่แข็งแรงพอที่จะปิดกั้น ไม่ให้รากที่แตกออกมาใหม่ไชชอนออกนอกแนวตุ้มดิน โดยให้วัสดุดังกล่าวอยู่ห่างตุ้มดินประมาณ 10-20 ซม. ลึกถึงก้นหลุมแล้วจึงผสมดินกับขุยมะพร้าวและปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก ในอัตรา 1:3:1 กลบดินผสมลงในร่องที่ขุด(ระหว่างแผ่นกั้นกับตุ้มดิน)อาจเว้นร่องรอบหลุมไว้ จนถึงเวลาขุดย้ายจริงในครั้งสุดท้ายก็ได้
ขั้นตอนที่ 6 ค้ำยันต้นไม้และดูแลรดน้ำ รอคอยจนกว่ามีรากใหม่ปรากฏให้เห็น จึงดำเนินการขุดและย้ายปลูกต่อไป
จากขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย อาจใช้เวลาหลายเดือน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลรดน้ำ บำรุงรักษาอย่างใกล้ชิด
10. ชนิดของต้นไม้ในการขุดล้อมและย้ายปลูกกับฤดูกาล ความสำเร็จในการขุดล้อมย้ายปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ มีความสำคัญอย่างมีนัยสำคัญระหว่างชนิดของต้นไม้กับฤดูกาล โดยอาจแบ่งต้นไม้ตามลักษณะของการเจริญเติบโตของต้นไม้ คือ
- ชนิดต้นไม้ไม่ผลัดใบ ต้นไม้ซึ่งไม่ผลัดใบ จะมีการเจริญเติบโตเกือบทั้งปี การทิ้งใบและการแตกใบอ่อนเป็นไปอย่างต่อเนื่องและปกติ จึงสามารถทำการขุดล้อมและย้ายปลูกได้ตลอดปี แต่ในฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุดคือ ฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป แต่มีข้อระวังคือ การขุดล้อมในขณะที่ดินเปียกชุ่มในฤดูฝน ตุ้มดินมีโอกาสแตกง่ายกว่าฤดูร้อน
- ชนิดของไม้ผลัดใบ ต้นไม้ผลัดใบจะหยุดการเจริญเติบโตในฤดูแล้ง ฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุด คือ ช่วงเวลาที่ต้นไม้มีใบแก่จัดเต็มต้นก่อนผลัดใบ เนื่องจากในขณะนั้นต้นไม้ได้มีการสะสมอาหารไว้ในส่วนต่างๆอย่างเต็มที่ สามารถแตกกิ่งใบได้ดีหลังขุดล้อมย้ายปลูก เดือนที่ทำการขุดล้อม คือตั้งแต่เดือนกันยายนไปจนถึงเดือนธันวาคม หรือ ก่อนเวลาที่ใบแก่จะร่วงหมด
ข้อห้ามสำหรับไม้ผลัดใบคือ ห้ามทำการขุดล้อมขณะที่ต้นไม้เริ่มผลิใบอ่อน เพราะในขณะนั้นต้นไม้จะอ่อนแอมาก อาหารที่มีได้ถูกนำไปใช้ในการผลิใบอ่อน ต้นไม้มีโอกาสตายมากกว่าช่วงเวลาอื่น(เสรี ทรัพย์สาร 2524)
11.การยกโคกปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ ในพื้นที่แฉะ ระดับน้ำใต้ดินสูงหรือดินมีการระบายน้ำเลว การนำต้นไม้ขุดล้อมไปปลูกจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากไม่สามารถทำ ?ก้างปลา? แก้ไขการระบายน้ำได้ จะต้องทำกองดินให้สูงขึ้นกว่าพื้นดินเดิม หลักการสำคัญ คือระดับของก้นหลุมส่วนที่จะวาง ตุ้มดิน จะต้องสูงกว่าระดับน้ำใต้ดินไม่น้อยกว่า 60 ซม.ความกว้างและยาวในการยกโคก อาจจะกว้างกว่าตุ้มดิน 2-3 เท่าขึ้นไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
12.การทดสอบหลุมปลูกในการซึมน้ำ เพื่อความมั่นใจว่าบริเวณที่ปลูกต้นไม้ใหญ่ มีการระบายน้ำดีเพียงพอสำหรับต้นไม้ การทดสอบง่ายๆ คือ การเติมน้ำใส่หลุมปลูกประมาณครึ่งหลุม ถ้าเป็นหลุมปลูกที่มีการระบายน้ำดี น้ำก็จะหมดในเวลา ?-1 ชม. แต่หากเวลาผ่านไปหลายๆชม. ยังมีน้ำขังอยู่ในหลุมปลูก จะต้องแก้ไขด้วยวิธีการต่างๆดังกล่าวข้างต้น หรือเปลี่ยนตำแหน่งที่จะปลูกไปยังที่ซึ่งเหมาะสมกว่า
13. การให้น้ำ การให้น้ำต้นไม้ขนาดใหญ่ ความจำเป็นมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการอนุบาลไม้ที่ขุดล้อมในเรือนเพาะชำ ในแปลงอนุบาลหรือย้ายปลูกในพื้นที่จริง วิธีการให้น้ำที่ดีที่สุดคือ การให้น้ำเหนือเรือนยอด จะโดยการติดตั้ง Sprinker แบบพ่นหมอกหรือหัวพ่นน้ำขนาดเล็ก (2-3 ม.) 1 หัว/ต้น การให้น้ำมาก/น้อยบ่อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับชนิดของต้นไม้ ความชื้นในอากาศ ความเร็วลม อุณหภูมิ แสงแดด ตลอดจนปัจจัยสิ่งแวดล้อม แต่โดยปกติวันละ 2-5 ครั้งก็เพียงพอ การให้น้ำครั้งละน้อยๆแต่บ่อยๆครั้งจะดีกว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ น้ำจะต้องไม่ท่วมขังโคนต้น
ขั้นตอนและวิธีการขุดล้อมและย้ายปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่
การขุดล้อมย้ายปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ มีความแตกต่างจากการปลูกต้นไม้จากกล้าไม้โดยสิ้นเชิงจึงต้องวางแผนเตรียมความพร้อมอย่างเข้มงวด รัดกุมชัดเจนในทุกขั้นตอน ความสำเร็จในการขุดล้อมย้ายปลูก ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานตามลำดับขั้นตอน ด้วยความระมัดระวังและความชำนาญ เช่นเดียวกับการประกอบชิ้นส่วนของเครื่องจักร ที่จะต้องมีขั้นตอนก่อนหลังตามลำดับ การขุดล้อมย้ายปลูกมีความยากกว่า ตรงที่มีชีวิต มีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องอีกปัจจัยหนึ่ง ลำดับขั้นตอนที่สำคัญในการขุดล้อมย้ายปลูก มีดังนี้
1.การสำรวจเบื้องต้น เป็นการสำรวจทั่วไปสำหรับการวางแผนการขุดล้อม ได้แก่ สำรวจต้นไม้ที่จะทำการขุดล้อม เพื่อให้ทราบชื่อ ชนิด ขนาด ความโตของลำต้น ความสูง จำนวนกิ่งใหญ่ รูปร่างของทรงพุ่ม ระบบเรือนราก ความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ เพื่อนำข้อมูลไปกำหนดชนิดขนาดของรถยกและรถบรรทุกขนส่ง จำนวนคน เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์การขุดล้อม ตลอดจนฤดูกาลหรือช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับชนิดของต้นไม้และเส้นทางขนส่งต้นไม้นั้น ตลอดจนวางแผนในการตัดแต่งทรงพุ่มเพื่อการขนส่ง
สำรวจสถานที่ เป็นการสำรวจพื้นที่ซึ่งต้นไม้ขึ้นอยู่และสถานที่ที่จะนำต้นไม้ไปปลูก เส้นทางคมนาคม ข้อมูลที่ต้องการทราบคือ ความสามารถในการเข้าถึงต้นไม้และสถานที่ปลูก สำรวจสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการขุดล้อม การขนส่งย้ายปลูกบนส้นทางที่ผ่าน แล้ววางแผนแก้ไข ได้แก่ ก้อนหิน คูน้ำ สิ่งก่อสร้าง สะพานลอย สายไฟฟ้าแรงสูง สายโทรศัพท์ ฯลฯ
สำรวจชนิดดิน หิน ในบริเวณต้นไม้ขึ้นอยู่และสถานที่ปลูก ดินและหินบริเวณที่ต้นไม้ขึ้นอยู่มีความสำคัญต่อการทำ ตุ้มดิน ส่วนแหล่งปลูกจะต้องคำนึงถึงการระบายน้ำ ข้อมูลเหล่านี้จะต้องนำมาใช้วางแผนเตรียมการห่อหุ้มตุ้มดินและการจัดการเตรียมหลุมปลูก
จะต้องเตรียมหลุมปลูกหรือเรือนเพาะชำให้เรียบร้อยแล้วเสร็จเป็นเบื้องต้น ก่อนจะดำเนินการขุดล้อมต้นไม้ อย่าขุดล้อมถ้ายังไม่เตรียมสถานที่ปลูกให้เรียบร้อย
สำรวจอุปกรณ์ในการให้น้ำ ก่อนการย้ายปลูกจะต้องจัดเตรียมและทดลองระบบการให้น้ำให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพราะจะต้องให้น้ำทันทีและต่อเนื่องเมื่อปลูกต้นไม้แล้วเสร็จ
สำรวจจัดหาคนดูแลรับผิดชอบ คนรับผิดชอบดูแลต้นไม้ขนาดใหญ่เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่น ผู้รับผิดชอบดูแลจะต้องมีความรู้ความเข้าใจหรือได้รับการถ่ายทอดความรู้ ในการดูแลบำรุงรักษาต้นไม้มาแล้วเป็นอย่างดี
2.การเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือ ต้องเตรียมเครื่องมือในการขุด อุปกรณ์ในการตักดิน รถเข็น วัสดุปลูก ไม้ค้ำยัน อุปกรณ์ในการยก รถสำหรับการยก รถบรรทุก อุปกรณ์ในการห่อหุ้มตุ้มดิน เชือกฟาง ค้อน ตะปู บันไดสำหรับตัดแต่งกิ่ง กระสอบป่าน สายยางรดน้ำ สีน้ำมันและยาทาปิดบาดแผลจากการตัดแต่ง ผ้าใบหรือแผ่นใยสังเคราะห์ผืนใหญ่ สำหรับคลุมต้นไม้และเรือนยอก เพื่อป้องกันลมขณะขนส่ง ตลอดจนอุปกรณ์อื่นๆดังกล่าวข้างต้น และที่สำคัญที่สุด คือ คน ซึ่งจะต้องได้รับการฝึกฝนให้มีความชำนาญและอดทน สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง ตั้งใจทำงานให้ทันเวลาจนกว่าจะทำการปลูกและค้ำยันแล้วเสร็จ(ในกรณีย้ายปลูกในคราวเดียวกัน)
3. การขุดล้อมและย้ายปลูก การขุด ตัดราก ทำตุ้มดิน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในขั้นตอนนี้ ถ้าต้นไม้มีขนาดใหญ่มาก ควรเริ่มดำเนินการดังนี้
แบ่งกลุ่มคนออกเป็น 2 กลุ่ม (ขึ้นอยู่กับขนาดต้นไม้) แบ่งหน้าที่เพื่อการทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อจะได้เปลี่ยนกันพักและงานจะได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เริ่มตัดแต่งกิ่งให้แล้วเสร็จเสียก่อนเพื่อลดน้ำหนักของเรือนยอดที่อาจทำให้ต้นไม้โค่นล้ม ในขณะที่ขุดให้เก็บกิ่งและทำความสะอาดรอบโคนต้นให้เรียบร้อย ไม่รกรุงรัง เพื่อความสะดวกและปลอดภัย
เริ่มขุดและตัดราก ตามขนาดที่กล่าวแล้วข้างต้น อาจเป็นตุ้มกลมหรือสี่เหลี่ยม ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมแต่ความสำคัญของขั้นตอนนี้ คือ จะต้องกำหนดว่ากิ่งใดหรือด้านใดของต้นไม้ที่จะวางลงบนพื้นรถ กิ่งด้านล่างจะต้องสามารถรับน้ำหนักได้ไม่ฉีกหัก แต่หากต้นไม้มีเฉพาะกิ่งขนาดเล็ก จะต้องเตรียมไม้หรือฉากเหล็กสำหรับการค้ำยัน เมื่อเอนล้มต้นไม้ลงภายหลังการขุดแล้วเสร็จ
ยกต้นไม้ขึ้นเมื่อขุดตัดแต่งราก ทาแผลกันเชื้อราแล้วเสร็จ ทำการห่อหุ้มตุ้มดินและอัดขุยมะพร้าวในตุ้มดิน พร้อมการเย็บหรือผูกรัดด้วยเชือกให้แน่นหนา แข็งแรง
ล้มต้นไม้เอนราบลงบนพื้นดิน (อาจค้ำยันเพื่อป้องกันกิ่งด้านล่างหักฉีก ถ้าไม่มีกิ่งขนาดใหญ่) ตัดแต่งกิ่งที่เหลือและแต่งแผล ทายาป้องกันเชื้อราแล้วจึงย้ายตำแหน่งของสลิงหรือโซ่ ไปยังตำแหน่งระหว่างเรือนยอดกับตุ้มดิน ประมาณน้ำหนักกึ่งกลางลำต้น ขั้นตอนนี้จะต้องใช้กระสอบป่านพันรอบต้นและตีทับด้วยไม้เนื้ออ่อน 1.5x2 นิ้วหรือ 1.5 x 3 นิ้ว โดยรอบต้นตรงตำแหน่งที่จะเกาะสลิงหรือโซ่ยกต้นไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลที่ลำต้น
การยกขึ้นรถบรรทุกเพื่อการขนส่ง ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ห้ามบุคคลผู้ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเข้าใกล้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากสลิงหรือโซ่ขาดหรือกิ่งไม้หัก ต้นไม้อาจพลิกตกลงจากรถ ฯลฯ เมื่อวางราบกับพื้นดีแล้วจึงยึดตรึงให้แน่นหนา ตัดแต่งกิ่งอีกครั้งแล้วจึงคลุมผ้าป้องกันลมโกรกในขณะขนส่ง หากต้นไม้ยื่นยาวออกจากตัวรถมาก จะต้องติดสัญญาณเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เช่น หลอดไฟสีแดง แผ่นสะท้อนแสงหรือผ้าสี เป็นสัญญาณตามกฎจราจรกำหนด
การเตรียมหลุมปลูก จะต้องเตรียมหลุมปลูกให้กว้างและลึกเพียงพอ เตรียมวัสดุปลูกและทดสอบการซึมน้ำให้แล้วเสร็จล่วงหน้า หากดินอ่อนมากอาจจะต้องใช้เสาเข็มหรือวางไม้หมอนยาวหลายๆอันที่ก้นหลุม เพื่อรองรับน้ำหนักต้นไม้แล้วกลบด้วยทรายหยาบ หนา 15-30 ซม. ป้องกันการทรุดตัว หรือทำให้ต้นไม้เอียง
การปลูก อาจยกต้นไม้ในตำแหน่งเดิมที่ยกต้นไม้ขึ้นรถบรรทุก นำต้นไม้วางลงบนพื้นดินก่อนปลูก หรือหากเปลี่ยนตำแหน่ง ต้องหุ้มลำต้นด้วยกระสอบป่านและตีทับด้วยไม้เนื้ออ่อน เช่นเดียวกับตำแหน่งแรกเสียก่อน เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผล
อนึ่ง ในการปลูกควรพิจารณารูปทรงและทิศทางของกิ่ง ให้ทรงพุ่มหมุนไปในทิศทางและมุมมองที่สวยงาม แล้วจึงกลบหลุมด้วยทรายหยาบผสมปุ๋ยหมักจนเต็มหลุม พร้อมกับรดน้ำและเหยียบย้ำรอบตุ้มดินให้แน่น เพื่อป้องกันการเกิดโพรงในหลุม แล้วจึงคลุมโคนด้วยใบไม้แห้ง ฟาง หรือวัสดุคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้นในดิน
ติดตั้ง Sprinkler บนเรือนยอดเพื่อการให้น้ำบนเรือนยอด แทนการให้น้ำโคนต้น วันละ 2-5 ครั้ง การให้น้ำจะต้องหมั่นตรวจสอบไม่ให้น้ำจนชื้นแฉะเกินไป
ในกรณีมีน้ำท่วมขังโคนต้นภายหลังการปลูก อาจทำการขุดหลุมชิดกับหลุมปลูก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80-100 ซม. ลึกถึงก้นหลุมหรือเล็กกว่า 20-30 ซม. กรุด้วยตาข่ายเพื่อป้องกันดินไหลเข้าไปในหลุม คอยตักน้ำทิ้งอย่างสม่ำเสมอจนกว่าต้นไม้เจริญเติบโต แข็งแรงและตั้งตัวได้ ถ้าไม่ปรากฏน้ำในหลุมจึงค่อยกลบหลุม
ข้อควรระวังที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ อย่าใช้ดินที่ค่อนข้างเหนียว ซึ่งขุดขึ้นมาจากหลุมปลูกมากลบโคนต้นไม้อย่างเด็ดขาด เพราะจะเกิดปัญหาของการซึมของน้ำลงสู่ระบบรากของต้นไม้และอาจเกิดโพรงดินขึ้นในหลุมทำให้รากเน่าได้
การดูแลบำรุงรักษาภายหลังการปลูกต้องมีการให้น้ำ พ่นยาและตรวจสอบการซึมน้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อใบแก่ควรจะตัดลิดกิ่งกระจุกทิ้งบ้าง ใส่ปุ๋ยเคมี 16-0-0 หรือ 16-16-16 บ้างเมื่อใบแก่จัดและทำการตัดแต่งกิ่งปีละครั้งหลังการปลูก เพื่อลดทรงพุ่มให้มีขนาดเล็กลง เป็นการป้องกันลมและเพื่อความสวยงาม
บทสรุป
การขุดล้อมย้ายปลูกต้นไม้ จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความเข้มงวดกวดขันในการปฎิบัติทุกขั้นตอน จะต้องอดทนและไมท้อถอยต่อความล้มเหลวใดๆที่เกิดขึ้น จงเพียรพยายามให้มากขึ้นทุกครั้งที่ล้มเหลว เมื่อเกิดความรู้ ความชำนาญ การขุดล้อมย้ายปลูกต้นไม้ก็จะเป็นงานที่ไม่ยากอีกต่อไป